top of page

3 แนวคิดการออกแบบเมือง สู่การมี ‘ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว’


ชีวิตที่ดี หมายถึง ชีวิตที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่เราจะมีชีวิตที่ดีได้แค่ไหนกันในเมื่อสภาพแวดล้อมยังเต็มไปด้วยการจราจรที่ติดขัด ขนส่งมวลชนที่แสนจะไม่เอื้ออำนวย ทางเดินเท้าที่บางทีก็เจอกับน้ำขัง ชำรุด หรือพลิกไปมาได้ มิหนำซ้ำยังเจอกับสารพัดสิ่งขวางทางเต็มไปหมด จะไปทำงานก็ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง ถ้าต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมเมืองแบบนี้ ชีวิตดี ๆ คงเป็นเรื่องยาก


จากดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิต (Quality of live index) ซึ่งคำนึงถึงปัจจัยของการเข้าถึงสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำ ทั้ง 5 ด้าน เมื่อเทียบดูสถานการณ์ในปัจจุบัน คนเมืองต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ที่ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยมากกว่าเมืองอื่นๆ ถึง 50% หรือคิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 9,000 บาท/เดือน* ซึ่งสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและปานกลางในกรุงเทพฯ ภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเพียง 3 ประเภท คือ ค่าอาหาร ค่าเดินทางและสื่อสาร และค่าที่พักอาศัย ก็ตกประมาณ 50-70% ของรายได้ของครัวเรือนเข้าไปแล้ว


ดังนั้น การออกแบบและวางผังเมืองที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นให้กับคนเมือง ซึ่งนำไปสู่การส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนที่อยู่ในเมืองได้  โดยไม่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายที่หนักไป

มาดูแนวคิดการออกแบบเมืองที่น่าสนใจ 3 แบบ ที่จะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในเมือง และจะทำให้การมีชีวิตดีๆ เป็นเรื่องง่าย


เข้าใจ 3 แนวคิดการออกแบบเมืองที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิต

เมื่อนึกถึงคุณภาพชีวิตที่ดีในสภาพแวดล้อมที่ดี ง่ายที่สุดคงไม่พ้นการนึกถึงเรื่องที่ใกล้ตัว เช่น วันนี้เดินออกไปนอกบ้านเพื่อไปทำงาน ทางเท้าดี มีความร่มรื่น ร้านค้าครึกครื้น ไม่ต้องเสียค่าเดินทางจุกจิก รู้ตัวอีกทีก็ถึงที่ทำงานเสียแล้ว แค่นี้ก็เกิดเป็นความสุขเล็ก ๆ เป็นจุดเริ่มต้นของวัน

สภาพแวดล้อมที่ดี มาจากการออกแบบเมืองที่ดีเช่นกัน โดย 3 แนวคิดการออกแบบเมือง ได้แก่ แนวคิดเมืองเดินได้ (Walkable city), แนวคิดเมือง 15 นาที (15-minute city) และแนวคิดเมืองกระชับ (Compact city)


“แนวคิดเมืองเดินได้” เป็นแนวคิดที่ต้องการส่งเสริมการเดินเท้า (Walk-ability) และการใช้จักรยาน (Ride-ability) ภายในเมือง โดยออกแบบให้เมืองมีองค์ประกอบทางกายภาพที่ส่งเสริมให้คนใช้การเดินเท้าและจักรยานในการสัญจรระยะสั้น หรือการวางแผนและกำหนดนโยบาย เช่น การส่งเสริมให้เมืองมีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน มีที่พักอาศัยอยู่ในระยะที่สามารถเดินเท้าไปยังที่ทำงาน

และร้านค้าได้ 



“แนวคิดเมือง 15 นาที” เป็นแนวคิดที่มุ่งหวังให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการที่จำเป็นภายในรัศมีการเดินหรือปั่นจักรยานภายใน 15 นาทีจากบ้าน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ต้องการให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการเดินทางไกล หรือรถยนต์



และอีกหนึ่งแนวคิดการพัฒนาเมืองที่น่าสนใจ คือ “แนวคิดเมืองกระชับ” เป็นรูปแบบการพัฒนาเมืองที่เน้นการพัฒนาในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นสูง เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างผสมผสาน และใช้พื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการขยายตัวของเมือง อีกทั้งยังส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การเดิน และการปั่นจักรยานแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว



จากแนวคิดทั้งสาม จะเห็นว่าแต่ละแนวคิดมีความคล้ายคลึงกันแต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ทั้งสามแนวคิดก็มีความแตกต่างกันบางจุด “เมืองเดินได้” ส่งเสริมการเดินด้วยการพัฒนาทั้งทางด้านกายภาพและนโยบาย ส่วน “เมือง 15 นาที” เน้นที่การสร้างการเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกสบายในระยะเวลาเดินทางอันสั้น ในขณะที่ “เมืองกระชับ” จะมุ่งเน้นที่การพัฒนาชุมชนเมืองให้มีความหนาแน่น เพิ่มรูปแบบการใช้ที่ดิน และโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบขนส่งของเมืองหรือเขตเมืองมากกว่า


ปลายทางเดียวกัน

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับแนวคิดการพัฒนาเมืองคือ แนวคิดเหล่านี้ไม่ได้มีการกำหนดไว้เป็นสากลอย่างชัดเจน และการตีความและหลักการต่าง ๆ อาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับบริบทในท้องถิ่น กลยุทธ์การวางผังเมือง และเป้าหมายของเมืองหรือชุมชนนั้น ๆ แต่แนวคิดการออกแบบเมืองทั้ง 3 รูปแบบ ก็มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาเมืองเพื่อนำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คนในเมือง ด้วยการเสริมสร้างการเข้าถึงปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิต เช่น

  • การจราจรติดขัดน้อยลง เนื่องจากผู้คนสามารถเดินหรือขี่จักรยานไปยังสถานที่ต่างๆ ได้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้รถยนต์ในการเดินทางมากนัก อีกทั้งช่วยเพิ่มการเข้าถึงสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน (essential needs) ให้มากขึ้น

  • สร้างโอกาสให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม พร้อมกับการสร้างความรู้สึกปลอดภัยในการอยู่อาศัยด้วยการใช้สัมพันธภาพของผู้ที่อยู่อาศัยในละแวกเดียวกันที่สามารถมองเห็นและทักทายกันได้  หรือสิ่งที่ Jane Jacob** เรียกว่า ‘eyes on the street’

  • คุณภาพชีวิตดีขึ้น ทั้งจากการที่สามารถเดินหรือขี่จักรยานได้ ทำให้การเดินทางในเมืองไม่ใช่เรื่องยากและมีค่าใช้จ่ายสูงมากเกินไป ส่งผลให้ผู้คนในเมืองเข้าถึงสถานที่ต่าง ๆ กันได้มากขึ้น และนำไปสู่การกระจายรายได้ของเมืองสู่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก

  • เกิดการแชร์ทรัพยากรกันเพื่อให้มีการใช้งานที่เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งด้านที่อยู่อาศัย การเดินทาง การทำงาน ทำให้คนเมืองไม่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายที่หนักไป เช่น ขนส่งสาธารณะ, การอยู่อาศัยร่วมกัน (Co-Living)

อย่างไรก็ตาม แนวคิดการออกแบบเมืองในปัจจุบันยังคงมีความท้าทายในด้านต่าง ๆ และยังคงคอยให้เราติดตาม ประยุกต์ใช้ และปรับตัวสู่สิ่งใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อการมี ‘ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว’ ในอนาคต



*อ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2562


** Jane Jacob คือ นักผังเมืองและนักเคลื่อนไหวซึ่งสนับสนุนแนวทางการสร้างเมืองที่เน้นชุมชนเป็นสำคัญ และเป็นไอคอนคนสำคัญของกระแสการพัฒนาเมืองที่ดี ให้เป็นเมืองของผู้คน


เขียนโดย :

ณัฐนิชกุล วนิชพิสิฐพันธ์



53 views0 comments

Comments


bottom of page