top of page

"Co-Living" ถ้าเรามาอยู่ด้วยกัน

Updated: 4 days ago


ท่ามกลางเมืองแสนวุ่นวายที่เต็มไปด้วยคนเหงาและการอยู่อย่างโดดเดี่ยว คุณอาศัยอยู่ภายในบ้านตามลำพัง และใช้ชีวิตด้วยตัวเองเพียงคนเดียว ในขณะที่วิถีเมืองกำลังดำเนินต่อไป บางคนเพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ภายในเมือง บางคนเพิ่งเริ่มต้นทำงาน บางคนต้องการที่จะไขว่คว้าโอกาสบางอย่างให้กับชีวิต จะดีกว่าไหม? ถ้าเรามาอยู่ด้วยกัน

ปัจจุบันคนเมืองจำนวนมากที่ใช้ชีวิตอยู่คนเดียวมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัญหาหลักของสังคมเมือง ทั้งการเพิ่มขึ้นของประชากรที่ทำให้พื้นที่เมืองเริ่มมีความหนาแน่นสูงขึ้น ส่งผลให้ที่อยู่ที่มีอยู่อย่างจำกัดเริ่มมีราคาสูงจนไม่สามารถครอบครองหรือแม้กระทั่งเช่าและอยู่ตามลำพังได้ การอยู่อาศัยร่วมกัน หรือ Co-Living อาจเป็นทางออก

Co-Living เป็นแนวคิดที่อยู่อาศัยที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่ส่วนกลางให้ผู้พักอาศัยได้ใช้ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้อยู่อาศัย ทั้งนี้ Co-Living ยังเป็นที่อยู่อาศัยที่ราคาเป็นมิตรกับคนเมือง เนื่องจากพื้นที่ส่วนตัวมีขนาดเล็กลง ทำให้ราคาในการปล่อยเช่าห้องถูกลงได้

อยู่ด้วยกันดีอย่างไร?


  1. แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย

จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่อยู่อาศัยมีราคาแพงและเข้าถึงได้ยากมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่หรือนักศึกษาจบใหม่ (First Jobber) ที่ยังมีรายได้ไม่มากนัก จึงทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เปลี่ยนมาเป็นผู้เช่าแทนที่จะเป็นเจ้าของบ้าน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยที่สูงเกินเมื่อเทียบกับรายได้เริ่มต้น

Co-Living จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตอบโจทย์ปัญหาราคาที่อยู่อาศัย ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ตามมาได้ เช่น ไม่ต้องซื้อเฟอร์นิเจอร์เข้าห้องด้วยตัวเอง ไม่ต้องทำความสะอาดห้องทุกวัน รวมถึงการซื้อของอื่น ๆ เข้าบ้านก็อาจจะแชร์กับผู้ที่อยู่อาศัยร่วมกันในบ้านได้


  1. ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

สำหรับคนเมือง การมองหาความหมายของคำว่าบ้านอาจไม่ได้สำคัญเท่ากับความหมายของการใช้ชีวิตและที่อยู่อาศัยที่มีความสะดวกสบาย ราคาไม่แพง และให้ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งชุมชน โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์ของคนเมืองในปัจจุบันที่การหาเพื่อนใหม่ หรือการพบปะและรวมตัวกันภายในชุมชน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย Co-Living จะมีส่วนช่วยในการทำให้ผู้อาศัยได้พบปะ มีกิจกรรม และมีพื้นที่ที่สามารถส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวกัน และในขณะเดียวกัน ก็ยังคงมีพื้นที่ที่เป็นส่วนตัวของตนเอง  


  1. ไม่จำกัดขอบเขตของการใช้ชีวิต

ด้วยการทำงานในปัจจุบันที่ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเดินทางไปที่สำนักงานเท่านั้น ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของคนกลุ่ม digital nomad หรือ ผู้สามารถทำงานจากสถานที่ใดในโลกก็ได้ขอเพียงสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ และ remote working หรือ ผู้ที่สามารถทำงานระยะไกลผ่านอินเตอร์เน็ต จึงทำให้มีผู้อยู่อาศัยจำนวนมากที่เลือกเช่าที่อยู่อาศัยในระยะสั้น เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าการจองโรงแรม และการเช่าอพาร์ทเมนต์หรือคอนโดในระยะสั้นก็มีค่าใช้จ่ายทั้งสัญญาเช่า และค่าประกันห้องเช่า ซึ่ง Co-Living เป็นการเช่าที่อยู่อาศัยที่ยืดหยุ่นทั้งในระยะสั้นและยาว จึงตอบโจทย์กับกลุ่มคนเหล่านี้ทั้งด้านระยะเวลาการอยู่อาศัยและค่าใช้จ่าย



  1. พบเจอสังคมใหม่ๆ

Co-Living จะมีการสับเปลี่ยนของผู้อยู่อาศัยที่มากกว่าที่อยู่อาศัยแบบเช่าระยะยาว จึงช่วยเพิ่มโอกาสในการเชื่อมต่อและสร้างเครือข่ายกับกลุ่มคนที่หลากหลาย ซึ่งเราจะเรียนรู้และพัฒนาซึ่งกันและกันผ่านวัฒนธรรมและอาชีพที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังช่วยให้ผู้อยู่อาศัยลดความเหงาและความรู้สึกโดดเดี่ยวลงได้



  1. Co-Living ส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน

การอยู่อาศัยร่วมกันสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก โดยปกติแล้วอาคารที่อยู่อาศัยและพื้นที่ใช้งานร่วมกันนั้นจะใช้ทรัพยากรที่จำเป็นร่วมกัน เช่น น้ำและไฟฟ้าผ่านการใช้พื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งเป็นการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน อีกทั้งช่วยลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ด้วย

จากการศึกษาวิจัยของ Conscious Living พบว่าการอยู่อาศัยร่วมกันก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 3 ใน 10 ของครัวเรือนทั่วไปในสหราชอาณาจักร ขณะที่การศึกษาวิจัยอีกกรณีหนึ่งชี้ให้เห็นว่าการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึงร้อยละ 23

อยู่ด้วยกันในเมืองใหญ่

จากปัญหาที่อยู่อาศัยมีอยู่อย่างจำกัดและราคาแพงเกินกว่าจะจ่ายไหว  อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญในเมืองใหญ่คือการกักตุนที่ดินและมีอาคารไม่ได้ใช้ประโยชน์จำนวนมากภายในเมือง ซึ่งมีมากกว่า 2,000 แห่งในกรุงเทพฯ ที่ปล่อยขายและให้เช่า ส่งผลให้เกิดอพาร์ทเม้นท์หรือคอนโดใหม่ๆ นอกเมืองมากขึ้น หลายคนจึงต้องเดินทางเพื่อเข้ามาทำงานภายในเมือง ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาก หรือหากอาศัยอยู่ในเมือง ขนาดของที่อยู่อาศัยก็มีขนาดเล็กลง จนเรียกได้ว่าจ่ายแพงขึ้นแต่คุณภาพชีวิตกลับถดถอย

ขณะที่การอยู่ในเมืองเป็นเรื่องที่ยาก การนำอาคารที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เหล่านี้มาพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย

Co-Living ก็อาจเป็นคำตอบของปัญหานี้ได้ และการอยู่ในเมืองก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป


มากกว่าการอยู่ร่วมกัน

Co-Living คือการนำแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน หรือ Sharing Economy มาประยุกต์ใช้กับที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นแนวทางที่นำทรัพยากรที่ยังไม่ถูกนำมาใช้หรือทรัพยากรส่วนเกิน (Excess Capacity) มาจัดสรรให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

พื้นที่ทุกตารางเมตรจะถูกนำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในอาคาร เช่น ชั้นใต้ดิน ห้องที่ว่าง จะถูกนำมาแปลงเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่มีชีวิตชีวา ไม่ว่าจะเป็นห้องนั่งเล่น ห้องทำงาน ห้องออกกำลังกาย แนวทางนี้จะช่วยทำให้สามารถใช้ประโยชน์ของอาคารได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สร้างมูลค่า และลดต้นทุนได้

Co-Living ได้มอบคุณภาพชีวิตที่ดีในราคาที่เป็นมิตร และได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีหลายแห่งที่ได้เข้าสู่ตลาดที่อยู่อาศัยนี้ เช่น  Zolo Stays, Stanza Living, FF21, Cozy Stay เป็นต้น

โครงการเหล่านี้ไม่เพียงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลต่อตลาดที่อยู่อาศัย แต่โครงการ Co-Living เหล่านี้จะส่งผลที่ใหญ่ต่อไปให้กับเมือง


แหล่งอ้างอิง

.

.

.

.

.

.


เขียนโดย :

ณัฐนิชกุล วนิชพิสิฐพันธ์



39 views0 comments

Comments


bottom of page