top of page
Writer's pictureprai wong

Smart Cities and Privatisation — Part I: The Case of Sidewalk Labs, Toronto’s Waterfront

Smart Cities and Privatisation เป็นซีรีย์ของบทความสองตอนที่จะพาไปดูกรณีศึกษาของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจากสองเมืองสองประเทศคนละฟากฝั่งโลก ในบทความตอนแรกนี้จะพาย้อนไปดูกรณีศึกษาของการพัฒนาย่านริมน้ำในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา โดย Sidewalk Labs บริษัทพัฒนาเมืองซึ่งเป็นของบริษัทลูกของ Google ยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีของโลก ทั้งนี้ทั้งนั้น Sidewalk Labs ได้ยุติสัญญาการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวซึ่งใช้เวลานานร่วมสามปีกับเมืองโตรอนโตลงในเดือนพฤษภาคมเนื่องมาจากสภาพคล่องของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดอสังหาริมทรัพย์ในยุโรปและอเมริกาซึ่งได้รับผลกระทบจาก COVID-19 รวมถึงคลื่นการต่อต้าน ความตะขิดตะขวงกับการพัฒนาดังกล่าวจากประชาชน นักวิจารณ์ และคณะกรรมการความร่วมมือองค์กรรัฐจากเมืองโตรอนโต


ในตอนที่สองของบทความนี้จะเกี่ยวเนื่องกับ “บริษัทพัฒนาเมือง” ซึ่งเป็นรูปแบบองค์กรการพัฒนาเมืองที่ได้รับความนิยมอย่างมากในจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย ทั้งสองกรณีศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและกระบวนการพัฒนาเมืองต่าง ๆ ของแคนาดาและไทย นำมาซึ่งรูปแบบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาเมืองซึ่งได้รับการตอบรับแตกต่างโดยสิ้นเชิง

---

What is Sidewalk Labs - Toronto’s Waterfront project?

โครงการย่านริมน้ำใหม่เมืองโตรอนโต กลายเป็นจุดสนใจในความเคลื่อนไหวด้านการพัฒนาเมืองหลังจากเมืองโตรอนโตได้เปิดตัวความร่วมมือกับบริษัทอย่าง Sidewalk Labs บริษัทซึ่งเติบโตออกมาจากบริษัทผู้ให้บริการเทคโนโลยีอย่างหลากหลาย ย่านริมน้ำโตรอนโตน่าจะเป็นย่านการพัฒนาแบบเมืองใหม่ กรณีแรก ๆในโลกที่ผู้พัฒนานั้นมาจากบริษัทด้านเทคโนโลยี ทั้งยังทำให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในอนาคตที่การพัฒนาเมืองจะมีผู้ร่วมพัฒนานั้นเกิดมาจากสายงานใหม่ ๆ ด้านเทคโนโลยีไม่ใช่เพียงวิศวกรรมโครงสร้างพื้นฐาน สถาปัตยกรรม หรืออสังหาริมทรัพย์อีกต่อไป Sidewalk Labs ไม่เพียงแต่นำเสนอแผนพัฒนากายภาพ คมนาคม หรือเศรษฐกิจแต่ยังนำเสนอกระบวนการในการจัดการและปรับเปลี่ยนกฎหมาย นโยบายด้านต่าง ๆ รวมถึงการเข้าถึงและจัดเก็บข้อมูล

ในปี 2017 Sidewalk Labs ได้ริเริ่มแผนความร่วมมือในการพัฒนาย่านริมน้ำและนำมาซึ่งร่างแผนพัฒนา Master Innovation and Development Plan (MIDP) ที่เผยแพร่สู่สาธารณะในสองปีต่อมา แผนพัฒนาซึ่งนำเสนอด้านการสร้างและจัดการกายภาพ นวัตกรรม และนโยบายต่าง ๆ เพื่อความยั่งยืนและครอบคลุมกับคนทุกกลุ่มบนพื้นที่ประมาณครึ่งตารางกิโลเมตร ในขณะที่เชื่อกันว่า Sidewalk Labs คาดหวังเป็นอย่างมากในการจัดทำโครงการระยะต่อไปบนพื้นที่ขนาดใหญ่กว่าเดิมถึง 16 เท่า หรือราว ๆ ขนาดย่าน downtown ของเมืองโตรอนโต ณ ปัจจุบัน

แผนระยะปัจจุบันนำเสนอระบบคมนาคมสาธารณะแบบรางเบา (LRT - Light Rail Transit), สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับกลุ่มงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์, พื้นที่สาธาณะ, รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับองค์กรการศึกษาจากรัฐและเอกชน เป้าหมายต่าง ๆ เช่นลดการปล่อยก๊าซ CO2 ได้ 89%, 40% ของโครงการที่อยู่อาศัยเป็นโครงการที่ราคาเข้าถึงได้ง่ายขึ้น, 75% ของการคมนาคมเป็นการเดินทางด้วยเท้า จักรยาน หรือระบบรถขนส่งสาธารณะ ในขณะที่พื้นผิวสำหรับผู้ใช้ทางเท้าในย่านนั้นมากกว่าปกติถึง 91% การพัฒนาดังกล่าวนำมาซึ่งตำแหน่งงาน 44,000 ตำแหน่ง โดย 2,500 ตำแหน่งเป็นงานในอุตสาหกรรมการผลิตและจะทำให้เกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจราว ๆ $14,200 ล้านแคเนเดียนดอลลาร์

---

What went wrong?

ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่าแผนดังกล่าวถึงถูกยุติความร่วมมือ หรือพบเจอกับแรงต่อต้านขนาดหนัก แผน MIDP นั้นเจอแรงต้าน การวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งประชาสังคม นักวิจารณ์ หรือแม้แต่คณะกรรมการความร่วมมืออย่าง Waterfront Toronto’s Digital Strategy Advisory Panel (DSAP) จากภาครัฐของเมืองโตรอนโตเอง โครงการของ Sidewalk Labs จริงอยู่ที่แผนพัฒนาดังกล่าวนำมาซึ่งการสร้างเศรษฐกิจ สร้างงานและอาชีพ นวัตกรรมเมืองต่าง ๆ และความสะดวกสบายกับชาวโตรอนโตเอง แต่สิ่งที่ชาวโตรอนโตต้องแลกมาคือข้อมูลความเป็นส่วนตัวให้กับองค์กรเอกชน การนิ่งเฉยต่อแผนการเข้าถือครองสิทธิ นำมาซึ่งความหายนะต่อเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของชาวโตรอนโตเอง

ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องจากแรงต้านต่อโครงการย่านริมน้ำเมืองโตรอนโตของ Sidewalk Labs นั้นอย่างแรกเลยคือเกี่ยวเนื่องกับ Urban Data Trust ซึ่งเป็นร่างข้อเสนอของข้อตกลงร่วมกันในการเข้าถึงและจัดการ “ข้อมูลเมือง” ซึ่งมีความพิเศษจากพื้นที่อื่น ๆ โดยประเด็นหลักคือตัวข้อมูลที่ถูกเก็บด้วยเซ็นเซอร์จำนวนมากในพื้นที่สาธารณะทั้งในและนอกอาคาร รวมถึงข้อมูลที่ไม่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับบุคคลในอาคารบางแห่ง เช่นอุณหภูมิห้อง ซึ่งถูกเสนอให้หลีกเลี่ยงหรือลดทอนขั้นตอนการที่ผู้ใช้พื้นที่ต้องทำการยินยอมให้ข้อมูลถูกเก็บและยอมรับ ประเด็นดังกล่าวโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงเช่น Jim Balsillie ผู้ก่อตั้งบริษัท Blackberry ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและแท็บเบล็ตก็วิจารณ์ว่านี่เป็นการทดลองในการสร้างอาณานิคมของทุนนิยมที่ใช้การสอดส่องแทรกแซงเป็นเครื่องมือ หรือ Tonar and Talton จาก Forbes กล่าวว่านี่คือ “Democracy Grenade” (ระเบิดที่จะนำมาซึ่งความย่อยยับของสังคมประชาธิปไตย) รวมถึงคณะกรรมการ DSAP เองก็ได้ทำเอกสารร่างข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวต่อชาวโตรอนโตในประเด็นดังกล่าวไว้เช่นกัน

ในประเด็นถัดมานั้นคือการขาดซึ่งความมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนและการให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการทำงานร่วมของเมืองโตรอนโตเอง ในที่นี้คณะกรรมการ DSAP ได้ระบุไว้ว่าร่างแผนพัฒนาดังกล่าวดูจะขาดความครอบคลุมถึงคนทุกกลุ่มอย่างที่ได้นำเสนอข้างต้นว่าเป็นจุดแข็ง ขาดมิติของการมีส่วนร่วมและการออกแบบโดยมีประชาชนเป็นหัวใจของการพัฒนา รวมถึงได้วิจารณ์การทำงานระหว่าง Sidewalk Labs ว่าขาดการให้ความร่วมมือกับตัวแทนจากภาครัฐ ภาคประชาชน เช่นเดียวกันกับนักวิจารณ์หลายๆคนที่ได้ให้ข้อคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนา MIDP ว่ามุ่งให้ประโยชน์กับอุตสาหกรรมดิจิตัลเทคโนโลยีมากกว่าชาวเมืองโตรอนโต

ชาวเมืองโตรอนโตเองนั้นก็มีข้อสงสัยต่อจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของ Sidewalk Labs โดยก่อนที่ร่างแผนพัฒนา MIDP นั้นจะถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ ได้มีข้อมูลเกี่ยวกับเป้าประสงค์บางส่วนของ Sidewalk Labs ต่อการทำโครงการย่านริมน้ำโตรอนโตซึ่งมุ่งหมายจะใช้โครงการระยะแรก ขนาด 12 เอเคอร์ หรือ ครึ่งตารางกิโลมตรในการต่อรองให้ได้มาซึ่งสิทธิในการพัฒนาระยะต่อ ๆ มาโดยตั้งเป้าไว้ที่พื้นที่ขนาด 16 เท่าตัวของโครงการระยะแรกหรือขนาดเท่ากับย่าน downtown ของเมืองโตรอนโต ณ ปัจจุบันเลยทีเดียว เรื่องดังกล่าวเป็นตัวจุดประกายการคัดค้านโครงการพัฒนาย่านริมน้ำจากภาคประชาชนอย่าง #Blocksidewalk

ประเด็นต่าง ๆ ในเรื่องการเอาสิทธิพัฒนาพื้นที่ การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล หรือการขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนนั้นแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้หากโครงการดำเนินต่อไปถึงการมีบทบาทและอำนาจที่จะชี้นำการบริหารจัดการ เศรษฐกิจและชีวิตประจำวันของเมืองโตรอนโต เสมือนโมเดลของระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ที่อำนาจองค์กรเอกชนเหนือกว่าอำนาจประชาชนและรัฐไปโดยปริยาย

---

Lessons Learned

กรณีศึกษาของการพัฒนาพื้นที่ย่านริมน้ำโตรอนโตโดย Sidewalk Labs นั้นเห็นได้ชัดถึงการรับฟังความคิดเห็นและความร่วมมือระหว่าง Sidewalk Labs กับภาคประชาชนและตัวแทนจากภาครัฐ การมีส่วนร่วมระหว่างฝ่ายต่างๆที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งเอกชน ประชาสังคม และภาครัฐนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการพัฒนาและจัดการเมืองในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ใหม่และละเอียดอ่อนอย่างเรื่องการเข้าถึงและประยุกต์ใช้ข้อมูลต่างๆ และข้อตกลงร่วมซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่มและมีจำนวนมาก ในอีกนัยยะหนึ่งภาครัฐและผู้พัฒนาอย่าง Sidewalk Labs ควรมีกรอบการทำงานและข้อตกลงที่ชัดเจนกว่านี้ ถึงความต้องการและข้อจำกัดต่างๆในการพัฒนา

การทำงานร่วมกันระหว่าง Sidewalk Labs และคณะกรรมการ DSAP อาจแก้ปัญหาในประเด็นความขัดแย้งของวัตถุประสงค์และความสำคัญต่าง ๆ ก่อนที่จะถูกเผยแพร่และกลายเป็นประเด็นความไม่พอใจและกระแสต่อต้านจากสังคม รวมถึงกรอบการทำงานที่รัดกุมและชัดเจนถึงความต้องการและข้อจำกัดต่าง ๆ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประเด็นเรื่องสิทธิข้อมูลนั้นมีความซับซ้อนสูงยิ่งแล้วใหญ่ เมื่อพิจารณาร่วมกับประเด็นต่าง ๆ ของเมืองแล้ว รวมถึงขีดจำกัดของความรู้และประสบการณ์ในการจัดการต่อการเก็บข้อมูลประเภทต่าง ๆ ในเมืองบนพื้นฐานของจริยธรรมร่วมในสังคม

กรณีศึกษาของการพัฒนาพื้นที่ย่านริมน้ำโตรอนโตโดย Sidewalk Labs เป็นกรณีของแรงต้านการพัฒนาจากสังคมมากพอ ๆ กับเรื่องของเมืองอัจฉริยะ เป็นเรื่องของการพัฒนาเพื่อประชาชนสังคมองค์รวมกับการพัฒนาแบบมุ่งให้ผลประโยชน์กับภาคเอกชน กรณีนี้แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวของเมือง ของรัฐ ของภาคประชาชน รวมถึงจากมนุษย์เมืองในระดับนานาชาติ นี่ไม่ใช่การรวมกลุ่มกันเพียงคัดค้านการพัฒนาแบบ Not In My Backyard แต่เป็นการตื่นรู้ต่อสิทธิในชีวิต ในอนาคตและในเมืองของชาวโตรอนโตเอง ยังเป็นการแสดงถึงระบบการคานอำนาจและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองในทุกระดับระหว่าง รัฐ เอกชน และประชาชนในการปกป้องเสรีภาพ

แน่นอนว่าการที่โครงการอย่างย่านริมน้ำโตรอนโตของ Sidewalk Labs นั้นจะถูกพับไปเป็นความสูญเสียของโลกและมนุษยชาติในด้านวิทยาการของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ สิ่งที่ถูกนำเสนอนั้นล้วนมีประสิทธิภาพในการยกระดับคุณภาพชีวิตและเป็นแบบอย่างในการพัฒนาเมืองในอนาคต แต่ท้ายที่สุดแล้วนั้นเมืองก็เป็นเรื่องของพลเมืองเป็นสำคัญ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะอาจจะเปลี่ยนรูปแบบผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือนำมาซึ่งผู้พัฒนาเมืองกลุ่มใหม่ และการเปลี่ยนของเนื้องานการวางแผนพัฒนาและจัดการเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้เปลี่ยนไปคือเมืองนั้นมีชีวิตได้ด้วยผู้คน และสิ่งนั้นคือสิ่งซึ่งจะไม่แปรเปลี่ยน

ในตอนต่อไปอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าเราจะนำเสนอเรื่องบริษัทพัฒนาเมืองกับนัยยะของการแปรรูปองค์กรความร่วมมือในการพัฒนาเมืองเป็นเอกชน ในเมืองไทยเพื่อนำเสนอมุมมองอีกมุมหนึ่งในการพัฒนาเมืองโดยมีบริษัทเอกชนเป็นผู้นำในการรวมทุน และผลักดันการพัฒนาเมืองเพื่อข้ามขีดจำกัดการพัฒนาเมืองในระบบราขการรวมศูนย์ ความซับซ้อนของกฎหมายซึ่งเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาเมืองแบบปกติ


เขียนโดย Jirapatr Jitwattanasilp





4 views0 comments

Comments


bottom of page