นับตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศทั่วโลก ‘เมือง’ ได้กลายเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งในเชิงกายภาพและคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในเมือง โดยเฉพาะกับเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น แต่ขณะเดียวกัน ‘เมือง’ ก็เป็นพื้นที่ระบาดรุนแรงของโควิด-19 และเป็นตัวการหลักที่ส่งผลต่อการเกิดก๊าซเรือนกระจก . นั้นหมายความว่า ‘เมือง’ เป็นทั้งสาเหตุและผลลัพธ์จากปรากฏการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของ ‘เมือง’ จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ชีวิตและอนาคตของผู้คนจำนวนมากเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น . ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราจึงได้ยินคำว่า ‘Smart City’ หรือ ‘#เมืองอัจฉริยะ’ กันบ่อยครั้งขึ้น เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ของการพัฒนาเมืองที่หลายเมืองทั่วโลกกำลังพัฒนาให้สำเร็จ ด้วยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และข้อมูลมาบริหารจัดการเมืองให้เกิดความสะดวกสบายและประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้ดีขึ้น .
| Digital City
ตั้งแต่ทุกคนต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับ New Normal หรือ #วิถีชีวิตใหม่ รูปแบบการมีปฏิสัมพันธ์ของเราก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่ทำให้เราไม่สามารถออกไปพบปะครอบครัว เพื่อนฝูง หรือคนรัก ได้เหมือนเคย แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ช่วยให้เราสามารถพบปะกันได้ผ่านช่องทางดิจิทัลสะดวกสบายมากขึ้น . ปัจจุบันนี้ เราสามารถทำงานและเข้าถึงความรู้ได้เพียงคลิกเดียวจากที่บ้านได้ง่าย ๆ โดยที่ไม่ต้องออกเดินทาง ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาอย่างชาญฉลาด ทำให้สามารถสรุปได้ว่า การพัฒนาเมืองยุคใหม่ จะต้องไม่มุ่งเน้นลงทุนแต่โครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพ เช่น ถนน หรือ รถไฟฟ้า อีกต่อไป แต่จะต้องมุ่งเน้นลงทุน #โครงสร้างเชิงดิจิทัล ด้วย โดยเฉพาะการขยายโครงข่ายและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมถึงการจัดเตรียมไวไฟฟรีไว้ให้บริการประชาชน และการสนับสนุนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่าง smart device เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียม . นอกจากเทคโนโลยีจะช่วยอำนวยความสะดวกชีวิตประจำวัน และรักษาการมีปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์แล้ว แต่ยังช่วยให้การบริหารจัดการเมืองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น เทคโนโลยีกล้อง CCTV และสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ เพื่อกำกับวินัยจราจรและจัดการกับปัญหารถติด หรือเทคโนโลยีเฝ้าระวังภัยพิบัติ เพื่อแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินให้แก่ประชาชนอัตโนมัติ .
| 15-minute City
ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีเท่านั้นที่ก่อให้เกิดเมืองอัจฉริยะขึ้นมาได้ แต่การออกแบบเมืองที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน แนวคิดเรื่อง “เมือง 15 นาที” (15-minute City) ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่หลายคนมักพูดถึง เพราะปัญหาใหญ่ของเมืองใหญ่ในประเทศไทย คือ ปัญหาการกระจุกตัวของแหล่งธุรกิจและร้านค้าในบางย่าน บางชุมชนเท่านั้น ทำให้หลายคนต้องเสียเวลาเดินทางไปทำงานหลายชั่วโมง เกิดความเครียด ความหงุดหงิดไม่สบอารมณ์เมื่อต้องเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ . การออกแบบเมืองให้ผู้คนสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคและบริการพื้นฐาน เช่น ตลาด ร้านค้า ร้านอาหาร สถานศึกษา สถานพยาบาล และพื้นที่สาธารณะ ภายในระยะ 15 นาทีจากพื้นที่อยู่อาศัย ด้วยการเดินเท้า ปั่นจักรยาน หรือใช้บริการขนส่งสาธารณะ นอกจากจะช่วยลดความเครียด ลดความกดดันจากการเดินทางด้วยแล้ว ยังช่วยลดมลพิษจากรถยนต์ ตัวการสำคัญของแก๊สเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ “เมือง 15 นาที” ยังช่วยสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดเล็กในแต่ละพื้นที่ได้อีกด้วย เพราะเมื่อบริการพื้นฐานทุกอย่างอยู่ใกล้ที่พักอาศัย ผู้คนก็หันออกมาเดินจับจ่ายใช้สอยกันในย่านชุมชน ส่งผลให้ทั้งสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตโดยรวมของผู้คนดีขึ้น #คุณภาพชีวิตในเมือง ก็ดีตามไปด้วย .
| Smart Tourism
ด้วยสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป บวกกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวของไทยจึงต้องรีบปรับตัวอย่างเร่งด่วน เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทยมายาวนาน . การขยายขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเที่ยวประเทศไทยจึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ภาครัฐต้องตระหนักให้ดี เราต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนให้สะอาด ตรงต่อเวลา และเป็นสากลมากขึ้น ต้องมีวินัยในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์อยู่เสมอ และต้องขยายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมสถานที่ท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยุคนี้ ต่างก็ใช้อินเทอร์เน็ตในการสืบค้นข้อมูล จองที่พัก และเติมเต็มความสะดวกสบายและ #ประสบการณ์การท่องเที่ยว ของตนเอง รวมถึงกลุ่มที่ท่องเที่ยวและทำงานไปด้วยพร้อมกัน . การพัฒนาพื้นที่ตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ด้วยการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขึ้นมาเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยว นอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าและยกระดับการท่องเที่ยว ก็ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ชุมชนโดยรอบ เกิดเป็นคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างไรก็ตาม การพัฒนาพื้นที่โดยไม่คำนึงถึงวิถีชีวิตและสิ่งปลูกสร้างดั้งเดิมก็อาจส่งผลให้เสน่ห์ของการท่องเที่ยวลดลงได้ ดังนั้น การเปิดโอกาสให้คนในชุมชนหรือพื้นที่ในย่านใกล้เคียงได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจและออกแบบจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะในท้ายที่สุด ผู้คนเหล่านี้ก็คือคนที่ต้องอยู่อาศัยและใช้ชีวิตจริงในพื้นที่นั้น ๆ . คำว่า Smart City จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในทุกมิติอย่างชาญฉลาด เพื่อให้เกิดความสุขและความยั่งยืน ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกคนในเมืองอย่างแท้จริง
Comments