บทความและภาพประกอบ โดย จิรภัทร จิตวัฒนาศิลป์
เป็นอีกครั้งหนึ่งตลอดช่วงเวลา 88 ปี ที่วิกฤตการณ์ทางการเมืองทำให้ประชาชนทั้งหลากหลายกลุ่ม หลากหลายอาชีพ มารวมตัวกันชุมนุมบนพื้นที่อันเป็นศูนย์กลางของเมืองหรือเป็นหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยต่างๆอีกครั้งหนึ่ง รูปแบบการชุมนุมตลอดหลายครั้งที่ผ่านมา ทั้งในอดีตและปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงการใช้เทคนิคศิลปะ และความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ในการสร้างมิติและสภาพแวดล้อมใหม่ๆที่แปลกตาไปให้กับเมือง โดยเปรียบได้กับการผ่านการทำให้พื้นที่เมืองและสิ่งแวดล้อมต่างๆนั้นเป็นดั่งพื้นหลัง เป็นส่วนหนึ่งของการส่งผ่านข้อความและแสดงสัญลักษณ์สำคัญต่างๆของการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง
จริงอยู่ที่การสร้างสรรค์มิติและสภาพแวดล้อมต่างๆเหล่านั้นสามารถเกิดได้ในหลากหลายโอกาสนอกเหนือจากการชุมนุม แต่พื้นที่และสิ่งแวดล้อมเมืองนั้น ความหมายของเมือง การขบถต่อต้านต่างๆ โดยใช้เมืองเป็นดั่งเวทีแห่งการตอบโต้และคัดคานอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน โดยหากมองปรากฏการณ์ทางการเมืองต่างๆผ่านมุมมองด้านมิติความสัมพันธ์ระหว่างการชุมนุม ผู้คน กิจกรรม นั้นเราได้พบกับประเด็นและวิธีการต่างๆที่น่าสนใจมากมายในการถ่ายทอดสื่อสารข้อคับข้องใจ ความขุ่นเคือง ข้อเรียกร้อง ผ่านพื้นที่เมือง
ศิลปะแห่งการขบถ
พื้นที่สาธารณะต่างๆถูกเข้าแทรกด้วยกิจกรรมที่แตกต่างออกไปจากวันอื่นๆซึ่งได้ปรับเปลี่ยนภาพเดิมๆของเมืองที่เราเคยรู้จักออกไป โดยได้แปรสภาพสถานที่และพื้นที่ต่างๆให้สภาพแวดล้อมของพื้นที่และของเมืองแบบเฉพาะตัวขึ้นมาชั่วขณะหนึ่ง กิจกรรมการแทรกแซงพื้นที่แบบชั่วคราวเหล่านี้ เรียกได้ว่าเป็นวิธี Tactical Urbanism หรือ (การแทรกแซงพื้นที่เมืองแบบกลยุทธ์)
.
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการชุมนุมครั้งต่างๆนั้นสร้างปรากฎการณ์ต่างๆ ต่อพื้นที่และสิ่งแวดล้อมของเมือง อันทำให้เกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการใช้พื้นที่ต่างๆ เช่น พื้นที่สาธารณะ ทางเท้า ท้องถนน อาคาร และสัญลักษณ์ หมุดหมายสำคัญต่างทางการเมือง ประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนรูปแบบนี้รวมถึงการเปลี่ยนของมิติพื้นที่และประชากรผู้ใช้งานที่ต่างไป ทำให้เกิดการสร้างสภาพแวดล้อมเมืองใหม่ชั่วขณะหนึ่ง
พื้นที่กับการเมือง คนละเรื่องเดียวกัน
พื้นที่ต่างๆนั้นล้วนมีมิติความสัมพันธ์เชิงพลังอำนาจและการเมืองอยู่ไม่มากก็น้อย นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส อองรี เลอแฟฟวร์ (Henri Lefebvre) ได้นิยามคำว่า พื้นที่ทางสังคม (Social Space) ซึ่งเป็นหนึ่งในสารตั้งต้นของการทำความเข้าใจเมืองและพื้นที่ต่างๆ สำหรับนักคิด นักปฏิบัติ โดยเลอแฟฟวร์ ให้คำจำกัดความพื้นที่ทางสังคมไว้ว่ามีความหมายกว้างกว่าพื้นที่สาธารณะ มากกว่าอาณาเขตเชิงกายภาพ แต่รวมถึงในมิติของพื้นที่การรับรู้ต่างๆในแบบรูปธรรมและนามธรรม พื้นที่ (space) ของความสัมพันธ์ที่โยงใยทางสังคม โดยเอื้อให้เกิดกระบวนการผลิตซ้ำ ความสัมพันธ์ในเชิงสังคม (Social) เชิงชีววิทยา (biological) และ ผลิตผล (productivity)
.
ด้วยมุมมองของเลอแฟฟวร์ ทำให้เข้าใจได้ว่าการเมืองแทรกซึมอยู่ในทุกๆที่ ในรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจก เป็นรูปแบบของการจัดการอำนาจ หรือการเมืองขนาดย่อม (micro politics) พื้นที่ต่างๆล้วนเป็นที่พบเจอ ท้าทาย ประชันและประนีประนอมกันของพลังทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม ระหว่างปัจเจก หรือกลุ่มประชากร ยกตัวอย่างเช่น “หากห้องนอนคุณโดนใครสักคนเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาติ นั่นเป็นเรื่องของการที่อำนาจเหนือพื้นที่ส่วนตัวถูกท้าทาย โดยที่การท้าทายและประนีประนอมนั้นนั้นขึ้นอยู่กับว่าใคร เป็นผู้รุกลำเข้าไปในอาณาเขตนั้น” ในนัยยะแบบเดียวกันนี้ “พื้นที่สาธารณะ” นั้นมีความซับซ้อนในมิติของการใช้งานและประชันกันของพลังอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ที่สูงมากกว่าพื้นที่ส่วนตัวอย่างห้องนอน พื้นที่สาธารณะจึงเกิดนัยยะของการใช้พื้นที่แบบจับจอง สร้างอาณาเขต หรือประนีประนอม ยินยอม เกิดขึ้นอยู่เสมอ
อ้างอิง :
Production of Space - Lefebvre (1974)
พื้นที่ “สาธารณะ” อุดมคติที่ไม่มีจริง
แนวคิดพื้นที่ทางสังคมนั้น ถูกนำมาใช้เป็นมิติในการทำความเข้าใจพื้นที่ต่างๆอย่างหลากหลายหนึ่งในเรื่องที่เป็นนิยมนั้นคือ “พื้นที่สาธารณะ” ซึ่งในความเป็นจริงนั้นพื้นที่ใดๆในโลกล้วนไม่ได้มีความสาธารณะอย่างอุดมคติอย่างจำกัดความไว้ หรือเช่น “พื้นที่เพื่อคนทุกกลุ่ม” โดยตลอดประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาตินั้นคำว่าพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ส่วนรวมของกลุ่มประชากรที่มีอัตลักษณ์และคุณลักษณะร่วมกันอย่างน้อยด้านใด ด้านหนึ่ง หรือในทางกลับกันพื้นที่เหล่านี้ก็ผลักใสคนอีกกลุ่มหนึ่งออกจากพื้นที่นั้นๆ ด้วยลักษณะทางกายภาพ กฎระเบียบ หรือ โครงสร้างทางสังคมที่ไม่สัมพันธ์กับกลุ่มที่มีตัวตนเหนือพื้นที่นั้น โดยสร้างคุณลักษณะที่ไม่พึงประสงค์สำหรับประชากรบางกลุ่ม เพื่อกีดกันกลุ่มคนเหล่านั้นออกไป
.
ตัวอย่างของความไม่เป็นอุดมคติของพื้นที่สาธารณะนั้นก็เช่น อะกอรา (Agora) ในยุคกรีกโบราณที่กล่าวกันว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่สาธารณะ ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติในการมี โดยเป็นส่วนศูนย์กลางของเมืองไว้สำหรับกิจกรรมต่างๆ แต่อะกอราเองจะมีไว้เพียงสำหรับกลุ่มบุรุษศักดินาเพียงกลุ่มเดียว โดยกีดกันสตรี และแรงงานทาส จากพื้นที่อะกอรา หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือพื้นที่สวนสาธารณะต่างๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ที่เป็นพื้นที่สาธารณะ แต่มิติด้านประชากรของกลุ่มผู้ใช้นั้น ถูกกำหนดด้วยบริบทของการใช้สอย มูลค่าพื้นที่โดยรอบ สิ่งแวดล้อม ประชากรโดยรอบ รวมถึงกฎเกณฑ์ เวลาเปิดปิด และวิธีการเดินทางเพื่อเข้าถึง ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำหรับกลุ่มคนบางกลุ่ม ซึ่งแปรผันโดยตรงกับรายรับและทรัพยากรส่วนบุคคล เช่น สวนในย่านชานเมืองเข้าถึงได้เพียงรถยนต์ หรือสวนสาธารณะเปิดปิดช่วงเวลาสามทุ่ม ซึ่งกลุ่มอาชีพบริการหลายกลุ่มเลิกงานก็ล่วงเวลาปิดสวนสาธารณะนั้นไปแล้ว
อ้างอิง :
The Politics of Public Space - Low & Smith (2006)
Tactical Urbanism
Tactical Urbanism (การแทรกแซงเมืองแบบกลยุทธ์) นั้นถูกนิยามและมีรากฐานจากการทำความเข้าใจทฤษฏีการจัดการเมืองโดยภาคประชาชน การแทรกแซงพื้นที่เมืองในรูปแบบทำมือ (D.I.Y.) ซึ่งมีความเป็นธรรมชาติ มีความยืดหยุ่นสูง ง่าย รวดเร็ว และหลายๆครั้งเป็นการจัดการแบบต้นทุนต่ำและชั่วคราว การเกิดขึ้นของ Tactical Urbanism นั้นคือปรากฏการณ์อย่างที่ประชาชนเอาเครื่องมือ ทรัพย์สิน และความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ แทรกเข้าไปในพื้นที่เมือง เช่น การตั้งเก้าอี้บนทางเท้า การตั้งหาบเร่แผงลอย หรือ การทาสีผิวจราจรเป็นงานศิลปะ หรืองานออกแบบ ก็นับได้ว่าเป็นการแทรกแซงจัดการเปลี่ยนหรือเพิ่มมิติเชิงศักยภาพของพื้นที่เมือง และใช้สิทธิอันพึงมีต่อพื้นที่เมือง
.
ทฤษฎี Tactical Urbanism นี้เองที่วิวัฒนาการรูปแบบเป็น แนวคิดการปฏิบัติแบบ Placemaking ซึ่งกลุ่มนักเคลื่อนไหวเรื่องเมืองในด้านต่างๆ โดยเฉพาะ สถาปนิก และนักออกแบบเมือง ได้นำรูปแบบกลยุทธ์แบบการแทรกแซงชั่วคราวนั้นไปปรับใช้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนในท้องถิ่น ในอีกด้านหนึ่งนั้นก็มีทฤษฎีด้านเมืองที่ล้อไปกับคำนิยามของ Tactical Urbanism เอง นั้นคือทฤษฎี กิจวัตรของความเป็นเมือง Everyday Urbanism (Margaret Crawford, John Chase and John Kaliski ,1999) ซึ่งมีรากฐานจากการทำความเข้าใจเมืองแบบกิจกรรมและกิจวัตรของเมืองจากนัยยะต่างๆ ทั้งวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคม
อ้างอิง :
Do-it-yourself urbanism: A history. Journal of Planning History - Talen. (2015)
Everyday Urbanism - Crawford, Chase, Kaliski. (1999)
อ้างอิงภาพประกอบ :
Untitled - Jim Moylan
Tactical Urbanism and Protest
Tactical urbanism นั้นเป็นหนึ่งในวิธีการที่ถูกนำไปใช้ในการชุมนุมประท้วง (ทั้งรับรู้และไม่รับรู้ถึงตัวทฤษฎีเอง) โดยเป็นหนึ่งในวิธีการสื่อสารความขุ่นเคืองและคับข้องใจ หรือการเข้าครองพื้นที่สาธารณะด้วยการสร้างหมุดหมาย สร้างสัญลักษณ์ต่างๆ ทั้งด้วยทรัพย์สินและร่างกาย อย่างเช่นงานศิลปะบนอาคาร บนกำแพง พื้นถนน บนสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของของเมือง ซึ่งนับ เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของเมืองไปชั่วขณะหนึ่งเพื่อเป็นการแสดงพลังและส่งสาสน์ในเชิงสัญลักษณ์บนพื้นที่ของเมือง โดยการชุมนุมประท้วงที่ได้นำแนวทางแบบ tactical urbanism มาปรับใช้นั้นประกอบไปด้วยมิติของงานทางศิลปะ ทางเศรษฐศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และการเมืองมากพอๆกัน
.
Tactical Urbanism ในการชุมนุมประท้วงนั้นยังสะท้อนได้ถึง ประสบการณ์ ภูมิปัญญา ความรู้ของผู้เข้าร่วมชุมนุม อย่างเช่นการสร้างอาณาเขตพื้นที่ชุมนุมและขัดขวางการเคลื่อนย้ายด้วยการใช้ถังน้ำแข็งตั้งยึดพื้นที่ หรือการใช้เครื่องราง สัญลักษณ์ และการทำพิธีทางศาสนาในพื้นที่เมือง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ข่มขวัญ และสร้างความกระอักกระอ่วนต่อการใช้กำลังของฝ่ายต่อต้านการชุมนุม หรือแม้แต่การที่ผู้ชุมนุมแต่ละคนแผ่นกระดาษวางรองพื้นถนน จนรวมกันเต็มพื้นที่เพื่อป้องกันความร้อนจากพื้นถนนในเวลากลางวันจนเกิดเป็นแผ่นรองขนาดใหญ่บริเวณที่ชุมนุม
อ้างอิง :
Protesting In Public Space - Projects For Public Space (2014)
Protests, public space and the remaking of cities - Rice (2020) https://kinder.rice.edu/.../protests-public-space...
The Power Game Podcast EP.67 ปรี๊ด ปรี๊ด...ประเทศกูมี - The Standard (2020)
อ้างอิงภาพประกอบ :
Black Lives Matter Mural Painted On Fifth Avenue In Front Of Trump Tower New York City - Anthony Quintano (2020) . https://flickr.com/photos/22882274@N04/50094853682
5th Anniversary Umbrella Movement – 傘運五周年, 28 September 2019 (Admiralty, Hong Kong) - Studio Incendo (2019). https://www.flickr.com/photos/29418416@N08/48809796902/
ลบยังไงก็ไม่ลืม - Democracy Restoration Group (2020)
Comments