จบไปแล้วสำหรับกิจกรรม “Urban Learning Day” ในงาน Bangkok Design Week 2023
ระหว่างวันที่ 4 - 12 กุมภาพันธ์ 2566 ภายใต้ธีมงาน Urban’NICE’zation หรือ เมือง-มิตร-ดี ซึ่งประกอบไปด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ทางศูนย์วิจัยชุมชนเมืองขอขอบคุณผู้ร่วมกิจกรรมทุกท่านที่มาร่วมเปิดประสบการณ์ด้วยกันในครั้งนี้ และหวังว่าจะได้พบกันในกิจกรรมครั้งต่อไป Urban Learning Day เป็นการจัดกิจกรรมถ่ายทอดแนวคิดและองค์ความรู้จากโครงการ “เมืองแห่งการเรียนรู้ย่านคลองผดุงกรุงเกษม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยหัวข้อ Learning City ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยมีจุดประสงค์สําคัญเพื่อเชื่อมโยงย่านและผู้คน ผ่านพื้นที่แห่งการเรียนรู้รอบคลองผดุงกรุงเกษม ด้วยกระบวนการมีส่วนรวมและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ จากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และ ภาคการศึกษา
โดยใช้พื้นที่แห่งการเรียนรู้ให้เกิดการความเข้าใจและสร้างประสบการณ์ในการสํารวจอัตลักษณ์ จุดเด่น ปัญหา ผู้คนภายในย่านคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อรวมกันระบุประเด็นปัญหา แนวทางการปฏิบัติผ่านกลไก ห้องเรียนมีชีวิต (Living Lab Model) และนําไปสู่การพัฒนาเครื่องมือหรือแนวทางพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยเป้าหมาย ของโครงการเพื่อวิเคราะหข้อมูลในการพัฒนาและจัดเก็บใน Project Bank เพื่อการต่อยอดและการเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
Urban Studies Lab ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ จึงมีความตั้งใจจัดกิจกรรม Urban Learning Day ในช่วง Bangkok Design Week เพื่อนำเสนอผลการศึกษา เครื่องมือ วิธีการ เครือข่ายที่ได้จากการทำงานวิจัย “เมืองแห่งการเรียนรู้ย่านคลองผดุงกรุงเกษม” เพื่อเน้นย้ำให้เห็นความพยายามในการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และบทบาทของความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษาในการร่วมผลักดันแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
Urban Learning Day คือ นิทรรศการ และ การแสดงผลงานควบคู่ไปกับกิจกรรมอื่น ๆ ที่สะท้อนความเชื่อมโยงกันระหว่างมิติของผู้คนและพื้นที่คลองผดุงกรุงเกษมและบริเวณโดยรอบ ผ่านการนำเครืองมือที่ใช้ในการมีส่วนร่วมกับชุมชนมาสร้างให้เกิดความเข้าใจถึงการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมหรือที่เรียกว่า Participatory Budgeting (PB) โดยกิจกรรมดังกล่าวจะนำผู้คนมาทำความรู้จักกับกลไกการมีส่วนร่วมผ่านการใช้เทคนิค Gamification และ Human-Centered Design เป็นแนวคิดมาปรับใช้กับการเก็บข้อมูลปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่ด้วยการใช้ PB Board Game เป็นเครื่องมือเพื่อสื่อสารการทำงานแบบมีส่วนร่วม
ในขณะเดียวกันกิจกรรมนี้จะช่วยสะท้อนถึงความสำคัญงานของออกแบบและงานสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่กรุงเทพฯ ตามเจตนารมณ์ของงาน Bangkok Design Week และสอดแทรกแนวคิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเมืองอีกด้วย
กิจกรรมเดินชมย่าน (Community and City Walk)
จัดขึ้นในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งพาผู้ร่วมกิจกรรมทุกท่านไปรู้จักอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของสถานีรถไฟหัวลำโพง เดินชมงานศิลปะและพูดคุยถึงประวัติความเป็นมาของชุมชนวัดดวงแข ตบท้ายด้วยการเยี่ยมชมมัสยิดและกุโบร์ที่ใหญ่ที่สุดในไทยที่ชุมชนมัสยิดหานาค
กิจกรรมเกมก่อร่างสร้างเมือง (PB Boardgame)
เพื่อจำลองการมีส่วนร่วมของพลเมืองผ่านการสวมบทบาทเป็นตัวละครต่าง ๆ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐ นักธุรกิจ คนไร้บ้านและนักศึกษาจบใหม่ (First jobber) ในการตัดสินใจการใช้งบประมาณของรัฐและเสนอไอเดียในการพัฒนาเมืองตามบทบาทที่ตัวเองได้รับ
นิทรรศการ “Urban Classroom Exhibition”
เป็นการแสดงผลงานออกแบบของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นการออกแบบผ่านการลงพื้นที่จริงและแก้ไขปัญหาตามบริบทพื้นที่ ตั้งแต่ย่านเทเวศร์ จนถึงย่านตลาดน้อย ภายใต้โจทย์ “เมืองแห่งการเรียนรู้ย่านคลองผดุงกรุงเกษม” โดยทุกผลงานจะถูกนำมาเก็บเป็นธนาคารโครงการ (Project bank) เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้ภาครัฐสู่การพัฒนาพื้นที่จริงในอนาคต
กิจกรรมเวทีเสวนาในหัวข้อ “คนรุ่นใหม่กับการพัฒนาเมือง: โอกาสและความท้าทายในการสร้างสรรค์เมืองแห่งการเรียนรู้ย่านคลองผดุงกรุงเกษม”
(New Generation Urban Changemakers and User-Generated City Mini Forum)
ในวันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 โดยได้รับเกียรติจากท่านรองฯ ผู้ว่าศานนท์ หวังสร้างบุญ มาร่วมเวทีเสวนากับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้แก่ ตัวแทนนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตัวแทนนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ และตัวแทนจากกลุ่มเยาวชนริทัศน์บางกอก ภายในกิจกรรมมีการแลกเปลี่ยนมุมมองของคนรุ่นใหม่ต่อแนวทางการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง รวมถึงภาพรวมการพัฒนาเมือง ทั้งเชิงนโยบายและงบประมาณ
Comments