บทความโดย พิชญา หุยากรณ์
ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ได้กลายเป็นสถานที่หนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจและแวะเวียนไปเยี่ยมชมเมื่อมีเวลาว่าง ในกรุงเทพเองนั้นถือเป็นแหล่งรวมพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bacc), พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA), พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป์, มิวเซียมสยาม Museum Siam, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์เป็นต้น เป็นที่น่าสนใจว่าการจัดแสดงผลงานทางศิลปะและวัฒนธรรมการเดินชมพิพิธภัณฑ์นั้นไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นขึ้นแต่อยูคู่กับประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานานแล้ว
.
พิพิธภัณฑ์ในเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นพิพิธภัณฑ์ประเภทศิลปะและโบราณคดี(Art and Archaeology Museum) เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการจัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แสดงชีวิตความเป็นอยู่วัฒนธรรมและประเพณีพื้นเมือง แต่ในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือพิพิธภัณฑ์ทางด้านศิลปะ (Museum of Arts) พิพิธภัณฑ์ทางศิลปะคือสถาบันที่เก็บรวบรวมงานที่แยกออกไปเป็นพิเศษ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมกับสุนทรียะของศิลปะและศึกษาวิวัฒนาการด้านศิลปะหรือประวัติศาสตร์ศิลปะด้วย พิพิธภัณฑ์ศิลปะบางครั้งอาจใช้คำอื่นแทนเช่น หอศิลป์ (Art Museum), ศูนย์ศิลปะ(Art Center), แกลเลอรี่ (Gallery) เป็นต้น
.
ทำไมศิลปะ ถึงอยู่คู่กับมนุษย์มาทุกยุคสมัยและได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบัน?
ศิลปะอยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่อดีต ในสมัยก่อนศิลปะมักผูกผันกับความเชื่อหรือศรัทธาของชนชาติ ศิลปะเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความฝัน จินตนาการ ความรู้สึก ความคิด หรือรสนิยมเฉพาะตนแก่ผู้อื่นเนื่องจากศิลปะนั้นเข้าใจได้ง่าย ผู้คนสามารถเข้าถึงงานศิลปะได้ทุกเพศ ทุกวัย ยิ่งไปกว่านั้นในทุกยุคสมัยผู้คนต่างเผชิญกับความเครียดและแรงกดดันจากสังคม เหล่าศิลปินจะใช้ศิลปะในการสะท้อนความคิดของตนรวมไปถึงค่านิยมทางสังคม ด้วยเหตุนี้คุณค่าของศิลปะในฐานะที่เป็นสมบัติของโลกก็ยิ่งเด่นชัดนอกจากจะเป็นประโยชน์ทางวัตถุแล้วการมีหอศิลป์ยังเป็นแหล่งที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเทศนั้นๆ อีกด้วย หอศิลปะของรัฐและของสถาบันต่างๆ มีบทบาทในการให้การศึกษาแก่ประชาชน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นแหล่งการศึกษาและวิจัยของนักเรียน นักศึกษา เป็นสถาบันที่สามารถให้คำแนะนำและความรู้แก่ผู้สนใจศิลปะและนักสะสมศิลปะ
การจัดแสดงผลงานศิลปะจากอดีตสู่ปัจจุบัน
.
ในประเทศไทย การก้าวเข้าสู่โลกสมัยใหม่ตามกระแสวัฒนธรรมที่รับมาจากประเทศตะวันตกตั้งแต่สมัยรัชการที่ 4 เป็นต้นมา แนวความคิดในการสร้างสรรค์ของศิลปินเริ่มเป็นอิสระจากการรับใช้ศาสนาและสถาบันกษัตริย์มาเป็นการสนองความรู้สึกนึกคิดของตนเองและในขณะเดียวกัน ศิลปะที่เคยทำอยู่ในวัดและวังก็กระจายออกไปสู่สามัญชนมากขึ้น ศิลปินต้องการนำเสนอผลงานศิลปะของตนแก่ประชาชน ซึ่งเป็นผู้เสพศิลปะโดยตรง หอศิลป์จึงเกิดขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับศิลปิน นำเสนอผลงานแก่ประชาชน
.
การจัดแสดงผลงานในยุคแรกเริ่มนั้น ประเทศไทยยังไม่มีหอศิลป์ไว้รองรับผลงานของศิลปิน การนำเสนอผลงานต่อสาธารณะชน อาศัยการจัดแสดงผลงานศิลปะขึ้นตามสถานที่ต่างๆ เช่น การแสดงผลงานศิลปะประจำปีของนักเรียนโรงเรียนประณีตศิลปกรรม กรมศิลปากร ในงานฉลองรัฐธรรมนูญซึ่งถือเป็นเวทีประลองฝีมือทางศิลปะอย่างเป็นทางการของชาติเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในสังคมไทย หรือแม้แต่การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ก็จัดแสดงที่อาคารเรียนคณะจิตรกรรมประติมากรรมของมหาวิทยาลัยศิลปากร จนกระทั่งปีพ.ศ.2502 ถึงจะปรากฏชื่อ หอศิลป์ กรมศิลปากร ในสูจิบัตรการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 10 ซึ่งอาจจะเป็น หอศิลป์แห่งแรกในประเทศไทย หลังจากนั้นเป็นต้นมาเกิดความพยายามของศิลปิน ในการจัดตั้งหอศิลป์ต่างๆ ขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก เช่น หอศิลป์ พีระศรี (พิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2517), ศูนย์ศิลปะเมฆพยับ (เปิดเมื่อปี พ.ศ. 2516) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ (พิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2520), หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2522) เป็นต้น
.
ในอดีตการจัดแสดงผลงานทางศิลปะเป็นการเปิดสถานที่ให้ผู้คนเดินเข้าชม แต่ในปัจจุบันการชมผลงานศิลปะมีรูปแบบที่เปิดกว้างมากขึ้นทั้งการแสดงงานผ่านสื่อ 2 มิติ 3 มิติ, การจัดนิทรรศการเพื่อคนตาบอด (Art For the Blind) และอีกโครงการที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากคือ Google Arts & Culture ร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกเปิดให้ผู้คนที่สนใจสามารถเข้าชมงานศิลปะทางออนไลน์ได้ ไม่ว่าจะเป็น Louvre Museum, National Gallery of London, Metropolitan Museum of Art ของ New York หรือพิพิธภัฑ์ในประเทศไทย อย่าง MOCA, พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของไทย เป็นต้น ในอนาคตความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเพิ่มความหลากหลายให้กับมนุษย์ในการเสพศิลปะมากแค่ไหนเป็นเรื่องที่น่าติดตาม แต่ผู้เขียนเชื่อว่างานศิลปะและการจัดแสดงผลงานจะอยู่คู่กับมนุษย์ไปอีกนานแสนนาน
อ้างอิง 1. ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์,1997 - หอศิลป์แห่งประเทศไทย: โครงการวิจัยกาญจนาภิเษกสมโภชน์ ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมและฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2. พิชญา หุยากรณ์, 2015 - พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป: ศิลปะไทยกับการเก็บรักษาและการจัดแสดงผลงาน 3. Pinchanokk, 2020 – “อยู่บ้านก็เสพศิลป์ได้ กับ Google Arts & Culture ดื่มด่ำไปด้วยกันพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ ทั่วโลก!” https://www.zipeventapp.com/.../01/google-arts-and-culture/ 4. กมลวรรณ จันทวร. 2012 “การบริหารจัดการหอศิลป์ของรัฐในประเทศไทย” กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร
Comments