top of page

ค่ายที่ชวนผู้สูงอายุในย่านนางเลิ้งมาเรียนรู้สุขภาวะผ่านอาหาร! 🥘🥬

Writer's picture: Suwaporn LeangpasukSuwaporn Leangpasuk

เรื่องกินเรื่องใหญ่! แล้วกินอย่างไรให้ทั้ง ‘อร่อย’ และมี ‘สุขภาพดี’ ? เป็นไปได้ไหมว่าทั้งสองอย่างนี้จะไปด้วยกันได้


Urban Studies Lab หรือศูนย์วิจัยชุมชนเมือง ตั้งอยู่ในย่านนางเลิ้ง ถิ่นที่เลื่องลือด้านของกินแสนอร่อย พวกเรามีกิจกรรมและความสัมพันธ์กับชาวชุมชนมาเนิ่นนาน จึงได้พูดคุยและสอบถามถึงวิถีชีวิต ชีวิตประจำวัน และความต้องการของผู้สูงอายุในชุมชน ทุกคนชอบอาหารและอยากทำอาหาร โครงการเพื่อผู้สูงอายุในชุมชนป้อมปราบศัตรูพ่าย ‘ค่ายกับวัยเก๋า’ จึงเกิดขึ้นจากพื้นฐานของความต้องการชุมชน


“เข้าใจได้ทันที อิ่มท้อง เอากลับบ้านได้ด้วย” 

ประโยคนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมที่ทำให้ชาวชุมชนย่านนางเลิ้งกว่า 30 คน จาก 9 ชุมชน ได้มาพบปะ เรียนรู้ ได้รับประสบการณ์ที่ทั้งมีประโยชน์และเอร็ดอร่อย!



นอกจากอาหารจะต้องอร่อยแล้ว วัยเก๋าก็ต้องคู่กับสุขภาพที่ดีด้วย จะได้แข็งแรง มีกำลังม่วนจอยในชุมชนไปอีกนาน ๆ นะ ค่ายกับวัยเก๋า มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้ สุขภาวะที่ดีด้านอาหารของผู้สูงอายุผ่านเมนูอาหารในแต่ละสัปดาห์ เพื่อให้พี่ ๆ วัยเก๋า ได้มีกิจกรรมทำในช่วงเวลาว่าง ช่วยคลายเหงา และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันและกัน อีกทั้งยังมีอาสาสมัครจากหน่วยงานภายใต้ FREC มาร่วมกิจกรรมกับพี่ ๆ ผู้เข้าร่วม เป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้รู้จักและคุ้นหน้าคุ้นตากันมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เรายังเปิดพื้นที่ครัวกลางของศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม (FREC Bangkok) ให้เป็นห้องเรียนทำอาหารที่ครบครัน พร้อมสำหรับการรังสรรค์ทุกเมนู! 


โดยกิจกรรมจะมีทั้งหมด 5 สัปดาห์ แบ่งออกเป็นสามส่วนหลัก คือ การเล่นการ์ดเกมวัตถุดิบ การทำอาหารประจำสัปดาห์ ซึ่งใน FREC นั้นเราให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรให้เกิดจึงได้รับการสนับสนุนวัตถุดิบที่ได้รับการกอบกู้จากอาหารส่วนเกินในเมือง (Surplus Food) จาก Scholars of Sustenance Foundation (SOS) มารังสรรค์เป็นมื้ออาหารที่มีประโยชน์ในแต่ละสัปดาห์ นอกจากการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงแล้ว เรายังพาผู้เข้าร่วมไปทัศนศึกษาถึงจังหวัดสมุทรปราการ ที่บางกะเจ้าฟาร์ม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ และสนุกสนานกับการท่องเที่ยวกับเพื่อน ๆ 



🏡 กิจกรรมของเรามีอะไรบ้าง?

+ อุ่นเครื่องด้วยการ์ดเกมวัตถุดิบ 🥚🍋

เรารู้จักวัตถุดิบที่เรากินอยู่ทุกวันนี้ดีแค่ไหน? ก่อนเริ่มทำอาหารซึ่งเป็นกิจกรรมหลัก พวกเรามีกิจกรรมอุ่นเครื่องให้ทุกคน ได้ทำความรู้จักกับวัตถุดิบ ไม่ใช่แค่สรรพคุณ และได้เรียนรู้ถึงข้อควรระวังในการรับประทานด้วย โดยใช้เครื่องมือ ‘การ์ดเกมวัตถุดิบ’ ซึ่งออกแบบโดย Urban Studies Lab สำหรับค่ายนี้โดยเฉพาะ


+ ได้เวลาทำอาหารแล้วครับเชฟ! 🥣🍚

สิ่งที่สำคัญสำหรับการทำอาหารก็คือ ‘วัตถุดิบ’ และ ‘สูตรทำอาหาร’ ซึ่งค่ายเราได้เตรียมพร้อมให้หมดแล้ว! แต่ละสัปดาห์จะมีวัตถุดิบชูโรงที่แตกต่างกัน โดยมีเชฟซี – อัคตัรมีซี อาหามะ เซฟมากประสบการณ์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านโภชนาการชุมชน เป็นวิทยากรหลักที่คอยแนะนำการทำอาหารและแบ่งปันความรู้ต่าง ๆ ให้ทุกคน


กิมมิคเล็ก ๆ คือเราเรียกคำนำหน้าทุกคนว่า ‘เชฟ’ พอเรียกแบบนี้แล้ว เหมือนกันว่ามีเวทมนตร์บางอย่างทำให้บรรยากาศในห้องครัวเปี่ยมไปด้วยพลัง พี่ ๆ วัยเก๋าในชุมชนตอบรับอย่างแข็งขัน ราวกับในห้วงเวลาหนึ่ง พวกเขากำลังสมบทบาทเป็นเชฟ ปรุงอาหารด้วยความตั้งใจ


อีกสิ่งสำคัญคือ ในแต่ละสัปดาห์พวกเราจะแจก ‘ใบเมนูอาหาร’ ที่เรียบเรียงด้วยภาพประกอบสวยงามให้ทางผู้เข้าร่วมนำกลับบ้านด้วย ซึ่งทุกคนชอบมาก ๆ เพราะจะได้ทบทวนการทำอาหารของตัวเอง ใบเมนูอาหารนี้มีการออกแบบมาให้อ่านแล้วเข้าใจง่าย สื่อสารชัด เหมาะกับผู้สูงอายุอีกด้วย


ผู้เข้าร่วมกิจกรรมหลายคนนำเมนูไก่ย่างใบชะพลูหนึ่งในเมนูประจำค่ายไปทำให้หลานกิน จากเด็กที่ไม่กินผักเลย ก็กินเมนูบางอย่างที่มีผักเป็นส่วนผสมได้อย่างเอร็ดอร่อย ทำให้เกิดการพัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัว และยังเสริมอีกว่า จะทำให้หลานกินอีก!


+ ตะลุยเมืองสมุทรปราการ ตามหาวัตถุดิบท้องถิ่นถึงที่! 🦆🪿

กิจกรรมเด่นที่ทุกคนเฝ้ารอคือการได้ออกไปทัศนศึกษานอกสถานที่! เราพาผู้เข้าร่วมโครงการมากันที่บางกะเจ้าฟาร์ม จังหวัดสมุทรปราการ แหล่งเรียนรู้ทางอาหารและการเกษตร ทุกคนได้ลองทำน้ำสมุนไพรจากพิลังกาสา ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นประจำจังหวัด มีคุณประโยชน์มากมาย รสชาติดี และกากที่ลูกพิลังกาสาที่เหลือจากการทำน้ำสมุนไพรเราก็ไม่ได้ทิ้งนะ เราเอามาเป็นส่วนประกอบในการพอกไข่เค็มจากไข่เป็ดปากน้ำ ที่เป็นเป็ดพันธุ์ท้องถิ่นอีกด้วย

ก่อนกลับกรุงเทพฯ พวกเราแวะเดินชมตลาดชุมชนที่ ตลาดบางน้ำผึ้ง เพื่อให้ทุกคนได้มาเยี่ยมเยียนตลาดนัดท้องถิ่น เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและได้ไอเดียใหม่ ๆ ในการไปปรับใช้กับกิจการร้านค้าของตัวเองได้ 



📈 Positive Impact


จากกิจกรรมในครั้งนี้ เราได้ขยายเครือข่ายความร่วมมือกับชุมชนทั้ง 9 ชุมชนด้วยกัน (ชุมชนวัดโสมนัส ชุมชนวัดแค ชุมชนจักรพรรดิพงษ์ ชุมชนศุภมิตร 1 ชุมชนศุภมิตร 2 ชุมชนวุฒิชัย (โบ๊เบ๊) ชุมชนสิตาราม ชุมชนบ้านดอกไม้ และชุมชนสระเกศ) ซึ่งนำไปสู่การต่อยอดการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนและขยายผลกระทบไปในวงกว้างมากขึ้นในปีถัด ๆ ไป และถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการจัดทำกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการดูแลสุขภาวะของชุมชนในระดับครัวเรือน โดยเริ่มต้นจากเรื่องง่าย ๆ ที่ก้นครัวของทุกบ้านเพื่อส่งเสริมแนวคิดการดูแลสุขภาพด้านโภชนาการแก่ทุกคน 


ซึ่งจากข้อมูลความต้องการและการประเมินผลการดำเนินกิจกรรมที่ได้จากผู้เข้าร่วมในครั้งนี้ ทำให้เราสามารถนำไปต่อยอดร่วมกับหน่วยงานที่ดูแลสุขภาวะของชุมชน อย่างศูนย์บริการสาธารณสุข เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย รวมถึงสำนักงานเขตต่อไปได้ ในการออกแบบกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะที่ดีร่วมกัน เพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิต ความต้องการ และพฤติกรรมของผู้คนในชุมชนได้มากขึ้น 



🌟 Key to success

: ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จด้วยดีคือ กิจกรรมที่เกิดขึ้นจากความต้องการของชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการบอกเล่าความต้องการของตัวเอง นำไปสู่การออกแบบโครงการที่ตอบโจทย์ชุมชนอย่างแท้จริง

และหนึ่งในคนสำคัญที่สุดของโครงการจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก ‘คนในชุมชน’ นี่แหละ ที่ให้ความร่วมมือและตอบรับกิจกรรมเป็นอย่างดี หลังจากจบกิจกรรมก็ยังให้ข้อเสนอแนะถึงการต่อยอดในครั้งต่อไปด้วย



🪑 ทำแล้วได้อะไร?

: ชุมชนกลับบ้านด้วยรอยยิ้มและอิ่มท้องทุกครั้ง เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเรา Urban Studies Lab ภาคภูมิใจว่าโครงการของเราเป็นประโยชน์กับผู้เข้าร่วมโครงการอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่การมาทำอาหารร่วมกันเฉย ๆ แต่ผู้สูงอายุจะได้องค์ความรู้เรื่องเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ ที่สามารถนำกลับไปทำได้เองด้วย เพราะวัตถุดิบที่เราเลือกสรรมานั้นหาง่าย ราคาประหยัด สามารถต่อยอดในการปรับเมนูอาหารที่ทำกินประจำในแต่ละวัน เพื่อให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น จากองค์ความรู้ที่วิทยากรได้แบ่งปันให้ในแต่ละสัปดาห์ 

อีกทั้งสถานที่ทำกิจกรรมหลักอย่างครัวกลางของ FREC Bangkok ก็ถูกใช้งานให้เกิดสาธารณประโยชน์มากยิ่งขึ้น เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชน มีการขยายเครือข่ายชุมชนที่เพิ่มขึ้น และนำไปสู่การทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมกันต่อไปในอนาคต


นอกจากความอร่อยใน “ค่ายกับวัยเก๋า” ในครั้งนี้แล้ว พี่ ๆ ในชุมชนยังได้รอยยิ้ม ความสัมพันธ์อันดี และความรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบติดไม้ติดมือกลับบ้านไปด้วย ประสบการณ์ครั้งนี้ทั้งมีสาระทั้งอร่อย! ครั้งหน้าพวกเราจะชวน พี่ ๆ ในชุมชนมาทำอะไรอีก ต้องรอติดตามนะ : ) 



11 views0 comments

Comments


bottom of page