top of page
Writer's pictureprai wong

วิถีน้ำที่(ไม่)เลือนหาย วิถีชีวิตที่(ไม่)เลือนจาง


จะมีใครสักกี่คนที่จำได้ว่า บางกอก หรือ กรุงเทพฯ เคยมีชื่อเล่นเท่ ๆ อย่าง #เวนิสแห่งตะวันออก เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เคยเต็มไปด้วยลำน้ำคูคลองจำนวนมากที่เชื่อมถึงกันอย่างเป็นระบบ จึงเกิดการตั้งถิ่นฐาน ตั้งชุมชนริมน้ำขึ้น มีการเดินทาง ขนส่งสินค้าด้วยเรือ ค้าขายกันในแม่น้ำลำคลอง ทำให้คนกรุงเทพฯ ในอดีตมีความผูกพันกับสายน้ำและวัฒนธรรมน้ำอย่างใกล้ชิด ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่ภาพเหล่านี้ค่อย ๆ เลือนหายไปจากชีวิตประจำวันของเมืองหลวงเรา หลงเหลือไว้เป็นเพียงความทรงจำเท่านั้น . กรุงเทพฯ มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาเมืองและระบบขนส่งการเดินทางเองก็เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา การสัญจรทางน้ำถูกแทนที่ด้วยการเดินทางทางบก ถนนหนทางถูกตัดเพิ่มใหม่ทุกปี คูคลองบางส่วนจึงถูกถมทำเป็นถนน ส่วนคลองที่เหลืออยู่ก็กลายเป็นแหล่งระบายน้ำและของเสียจากอาคารบ้านเรือน ร้านค้า และโรงงานต่าง ๆ ส่งกลิ่นเน่าเหม็นไปทั่ว จนแทบไม่เหลือภาพของเวนิสตะวันออกอีกต่อไป กรุงเทพฯ จึงกลายเป็นสังคมวัฒนธรรมบกเต็มตัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภายใต้ #เมืองคอนกรีต แห่งนี้ เรายังสามารถพบเห็นวิถีชีวิตดั้งเดิมแอบซ่อนอยู่ตามมิติต่าง ๆ ของคนกรุงเทพฯ . อย่างในปัจจุบัน เราสังเกตว่าวิถีชีวิตและพฤติกรรมบางอย่างของคนกรุงเทพฯ ได้รับอิทธิพลจากสายน้ำโดยไม่รู้ตัว ฟิลิป คอร์นเวล-สมิธ เจ้าของหนังสือ Very Thai: Everyday Popular Culture ให้ความเห็นที่น่าสนใจกับ #USLbangkok ว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความขัดแย้งในตัวเองสูง คือเป็นเมืองที่หนาแน่นไปด้วยผู้คนและกิจกรรมมากมาย แต่สิ่งเหล่านี้กลับประสานกลมกลืนกันอย่างลงตัวเหมือนกับสายน้ำ โดยเฉพาะสไตล์การขับรถของคนกรุงเทพฯ ที่ฟิลิปขอนิยามไว้ว่า ‘เหมือนพายเรือในคลอง’ คล่องตัว ลื่นไหล เพราะต่อให้เราเจอรถติดแค่ไหน หรือเจอสถานการณ์อะไรก็ตาม คนกรุงเทพฯ ก็สามารถ #ไหล ไปตามทางได้เสมอ . มาถึงตรงนี้ ก็อดคิดไม่ได้ว่า ถ้ากรุงเทพฯ ของเราถูกพัฒนาบนพื้นฐานของความเป็นเมืองแห่งสายน้ำตั้งแต่แรก การคมนาคมในปัจจุบันของเราจะก้าวหน้าขนาดไหน เพราะจากจำนวนคลองที่มีอยู่มากมายเชื่อมโยงถึงกันเหมือนใยแมงมุม แถมยังมีวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ที่ผูกพันเกี่ยวข้องกับสายน้ำเป็นทุนเดิม สภาพการจราจรในเมืองปัจจุบันก็คงไม่สร้างความปวดหัวให้กับคนกรุงเทพฯ และเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก . แต่ถ้าจะให้ลุกขึ้นมาพายเรือไปทำงานตอนนี้ ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะสภาพคลองในปัจจุบัน ทรุดโทรม ตื้นเขิน และเน่าเสียเกินกว่าจะใช้เป็นเส้นทางสัญจรได้เหมือนเดิม ประกอบกับการสร้างประตูน้ำและเขื่อนในลำคลองต่าง ๆ เพื่อการจัดการและระบายน้ำ ทำให้ไม่สามารถสัญจรผ่านคลองเหล่านี้ได้เหมือนเดิม จึงต้องมีการปรับสภาพคลองต่าง ๆ ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ซึ่งทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ต่างก็พยายามเสนอไอเดียกันอยู่ต่อเนื่อง โดยผลจากการฟื้นฟูสภาพคลองเพื่อการสัญจรทางน้ำในกรุงเทพฯ ไม่เพียงจะเป็นการพัฒนาระบบคมนาคมให้ครอบคลุมทั่วทั้งเมือง เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังเป็น การรื้อฟื้นวิถีชีวิตดั้งเดิมของกรุงเทพฯ ให้กลับมาใกล้ชิดกับสายน้ำอีกครั้ง . เพราะการพัฒนาเมืองที่ดี นอกจากจะต้องคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในเมือง การรักษาสมดุลของวิถีชีวิตดั้งเดิม หรือเอกลักษณ์บางอย่างของพื้นที่ก็เป็นสิ่งสำคัญ ปัจจุบันกรุงเทพฯ เริ่มเชื่อมโยงการสัญจรทางบกและทางน้ำเข้าด้วยกันแล้ว ทั้งจากระบบ BTS และ MRT เข้ากับระบบเรือโดยสารตามคูคลองต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เช่น คลองแสนแสบ และคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งส่งผลให้การจราจรโดยรอบคล่องตัวขึ้น และช่วยลดระยะเวลาเดินทางได้ดี รวมถึงพัฒนาระบบและโครงข่ายการสัญจรทางน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ดีขึ้น และเพิ่มเส้นทางอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโจทย์สำคัญที่อยากชวนทุกคนมาร่วมขบคิดไปด้วยกันว่า กรุงเทพฯ จะสามารถทวงคืนชื่อเล่นเวนิสแห่งตะวันออกในอนาคตได้ไหม ? และ เราจะสามารถสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่ดี น่าอยู่ สำหรับทุกคนได้อย่างไร ?


Comments


bottom of page