| ประชาชนมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำงบประมาณของรัฐได้ไหม ? . เคยสงสัยกันไหม ? ว่าทำไม แม้จะใช้งบประมาณไปเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังพบปัญหาเกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ . หรืออาจจะเป็นเพราะเราแก้ปัญหาได้ไม่ตรงต่อความต้องการในพื้นที่ ออกแบบแนวทางการบริหารได้ไม่สอดคล้องต่อปัญหาในพื้นที่ที่แตกต่างกัน . “ข้อมูลงบประมาณของ กทม แบบไหนที่จำเป็นต้องรู้ ก่อนมีส่วนร่วม และข้อมูลงบประมาณอย่างเดียวเพียงพอหรือไม่ หากจะเข้าร่วมกระบวนการ PB”
มาหาคำตอบกันใน ตอนที่ 2 งบประมาณของคนกรุงเทพ กับปัญหาที่เกิดรอบตัว
| ภาพรวมงบประมาณของ กทม.
.
#กรุงเทพ มีการจัดสรรงบประมาณออกเป็น 7 ด้านหลักได้แก่
1. ด้านการบริหารจัดการทั่วไป
2. ด้านการดูแลรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อย
3. ด้านการโยธาและระบบจราจร
4. ด้านการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย
5. ด้านการพัฒนาสังคม
6. ด้านสาธารณสุข
7. ด้านการศึกษา
.
โดยงบประมาณส่วนใหญ่ในปี 2564 จะถูกจัดสรรให้กับการบริหารจัดการทั่วไปมากกว่า 30%, ดูแลรักษาความสะอาดมากกว่า 17%, และการโยธาและระบบจราจรมากกว่า 16% ในสัดส่วนที่สูงกว่าด้านอื่นที่เหลือ ถึงแม้ว่าจะมีการจัดสรรงบประมาณในสัดส่วนที่สูงอยู่ตลอดทุกปี แต่ก็ยังพบปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องดังกล่าวอยู่ตลอด ทำให้ กทม. ต้องใช้งบในการจัดการปัญหาเหล่านี้ทุกปีอย่างที่ไม่ควรจะเป็น
.
ในขณะเดียวกันงบด้านการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย ที่ได้รับการจัดสรรน้อยรองลงมาจากปี 2563 นั้น เป็นปัญหาที่ประชาชนชาวกรุงเทพฯ ได้ประสบถึงขั้นวิกฤติแทบทุกปี ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม, น้ำหนุน, น้ำหลาก, น้ำเสีย, หรือน้ำขัง ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้ว จะพบว่าใน 1 ปีนั้น คนกรุงเทพฯ จะต้องประสบปัญหาดังกล่าวนานถึง 1 เดือนเลยทีเดียว
.
การจัดสรรงบประมาณ และปัญหาที่เกิดขึ้นในเมือง แสดงให้เห็นว่า กทม. อาจมีการจัดสรรงบประมาณไม่ได้สัดส่วนต่อการแก้ปัญหาและอาจจัดลำดับความสำคัญได้ไม่ถูกต้อง เพราะปัญหาที่วิกฤตินั้น ไม่มีงบประมาณที่เพียงพอในการแก้ไข แต่บางปัญหาที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวนมากนั้น ไม่ได้ถูกแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีโครงการอีกมาก ที่ทำให้สูญเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็น และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน
ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างมากสำหรับว่าที่ผู้ว่าฯ คนต่อไป
การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม หรือ ที่เรียกว่า Participatory Budgeting อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากขึ้น
.
| Participatory Budgeting คืออะไร?
การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า PB เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำนโยบาย ทั้งการบอกความต้องการของตนเอง (voice) ผ่านการนำเสนอ และการลงคะแนนเลือกโครงการ (vote) ตามสัดส่วนงบที่รัฐจัดสรรให้
ประชาชนสามารถมาลงคะแนนเลือกโครงการที่อยากให้รัฐบาลท้องถิ่นนำไปใช้และลงทุนได้ เมื่อผลคะแนนออกมาโครงการที่ได้คะแนนตัดสินอันดับแรกจะได้นำไปปฏิบัติจริง
.
PB ถือเป็นกลไกการมีส่วนร่วมที่คนทุกรูปแบบสามารถเข้าร่วมได้ โดยไม่ต้องอาศัยความได้เปรียบทางสังคม ด้วยการเชื่อมประชาชนเข้ากับผู้แทนโดยตรง ทั้งนี้ในปี 2013 มีหน่วยงานท้องถิ่นทั่วโลกใช้ PB ไปแล้วถึง 7,000 แห่ง
การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมให้อำนาจแก่ประชาชนในการตัดสินใจว่างบประมาณส่วนไหนไม่สมเหตุสมผล และนำเสนอโครงการที่สามารถแก้ปัญหาที่ตรงจุดได้เพราะเป็นการกระจายความร่วมมือสู่ระดับท้องถิ่นจากคนในพื้นที่จริง
.
PB เปิดพื้นที่ให้คนทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าจะมีสถานะทางเศรษฐกิจและฐานะทางสังคมอย่างไรให้สามารถเข้าร่วมได้อย่างเสมอภาค
การจัดทำงบประมาณครั้งที่ผ่านๆของ กทม. มาอาจสะท้อนให้เห็นว่า เมืองจะสามารถพัฒนาได้หากประชาชนมีสิทธิในการมีส่วนร่วมจัดลำดับความสำคัญของปัญหามากขึ้น
การเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในครั้งนี้ก็มีผู้สมัครหลายท่านเห็นความสำคัญและได้เพิ่มนโยบายของการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมไปบ้างแล้ว
| กรณีศึกษา เมือง Porto Alegre ประเทศบราซิล
.
ในปี ค.ศ. 1988 เมือง Porto Alegre ในประเทศบราซิล เป็นเมืองแห่งแรกของโลกที่ได้นำ #การจัดสรรงบประมาณแบบมีส่วนร่วม มาใช้ ผ่านการพัฒนาจากสมาคมชุมชนและพรรคแรงงาน ด้วยการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 12 เขต เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และสำรวจความต้องการของคนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิต โครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคที่แตกต่างกัน เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ตรงตามความต้องการของประชากรในแต่ละเขตอย่างแท้จริง
.
ซึ่งสภาชุมชนจะมีการจัดอภิปราย และจัดลำดับความสำคัญในการลงทุนจัดสรรงบประมาณในทุกปี ทั้งยังมีการจัดประชุมตัวแทนของภูมิภาคเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่เทศบาล ก่อนนำเสนอขออนุมัติงบประมาณ
.
แม้ว่าในปีแรก ๆ ของการจัดทำกระบวนการนี้ จะมีประชาชนในพื้นที่มาเข้าร่วมกระบวนการไม่ถึง 1,000 คน แต่ก็มีผู้ที่สนใจเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี จนในปี ค.ศ. 2005 พบว่ามีผู้ที่สนใจและเข้าร่วมกระบวนการนี้มากถึง 20,000 คน
| กรณีศึกษา ประเทศฝรั่งเศส
.
หนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับประชามติมาก ๆ อีกประเทศหนึ่งของโลกอย่างประเทศฝรั่งเศส โดยเฉพาะเมืองลียง ได้จัดให้มี #งบประมาณแบบมีส่วนร่วม ครั้งแรกขึ้นเมื่อปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งระบบงบประมาณแบบมีส่วนร่วมไม่ได้เพียงแต่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดสรรงบประมาณแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างกลไกการบริหารเมืองที่ดี และเป็นการให้ความสำคัญแก่รัฐธรรมนูญในเมืองอีกด้วย
.
ถึงแม้ว่าการบริหารส่วนท้องถิ่นของประเทศฝรั่งเศส จะพบปัญหาเรื่องรายได้ในการจัดเก็บภาษีไม่ต่างจากประเทศไทย แต่เมืองลียงก็ได้แก้ปัญหานี้ ด้วยการจัดหางบประมาณจากภาคเอกชน เพื่อร่วมลงทุนพัฒนาเมือง ผ่านองค์การ SPL หรือองค์การเพื่อพัฒนาท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขององค์การมหาชนและองค์การท้องถิ่น โดยจะมีการบริหารในรูปแบบบริษัท แต่มีหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งองค์การ SPL นี้ มีอยู่จำนวนมากในประเทศฝรั่งเศส กระจายตัวอยู่ในแต่ละพื้นที่ ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในเมือง
.
โดยโครงการ SPL Lyon Part-Dieu นั้น เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาฟื้นฟูเมืองลียง ผ่านการใช้งบประมาณสาธารณะ ซึ่งจะรวบรวมคนกลุ่มต่าง ๆ ภายในเมือง ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป, เจ้าหน้าที่รัฐ, หรือผู้เชี่ยวชาญ ในการร่วมปรึกษาหารือ, วางแผนการดำเนินงาน, ศึกษาความเป็นไปได้ และร่วมลงคะแนนเสียง เสนอโครงการสู่สภาเมือง เพื่อนำไปมาปฏิบัติตามแผนต่อไป
| กรณีศึกษา จ.ลำปาง
.
สำหรับประเทศไทยเองก็ได้มีการนำร่องกระบวนการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมไปบ้างแล้ว เช่น เทศบาลตำบลเกาะคา จังหวัดลำปาง ได้รับรางวัลความโปร่งใสและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนถึง 6 ครั้ง
.
ประชาชนชาวเทศบาลตําบลเกาะคาสามารถมี ส่วนร่วมในการจัดทํางบประมาณของเทศบาลตําบล เกาะคาได้ 2 รูป แบบ ดังนี้…
1. การมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทํางบประมาณ
2.การมีส่วนร่วมด้วยการขอรับการจัดสรรงบประมาณผ่านการเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อเสนอต่อเทศบาล
.
กระบวนการทำงานแรกเริ่มจากการเปิดเวีทีพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดของชาวเกาะคา ซึ่งจะสามารถจัดขึ้นได้โดยชุมชนร่วมกันจัดเอง หรือนักวิจัยมาร่วมจัดได้ เวทีนี้กลายเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดการระดมความคิดเห็นร่วมกัน โดยสามารถจัดได้บ่อยตามความต้องการของชุมชน อีกทั้งยังมีเวทีประชาคมที่จัดขึ้นโดยเทศบาล โดยให้เทศบาลเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์
.
เทศบาลตำบลเกาะคาสร้างความมั่นใจให้แก่ชุมชนว่าโครงการที่ชาวบ้านช่วยกันคิดจะถูกเอาไปใช้จริงด้วยการใส่โครงการลงในแผนพัฒนาเทศบาลและแผนงบประมาณ โครงการที่ได้รับคะแนนตัดสินอันดับแรกจะถูกบรรจุในเทศบัญญัติ ซึ่งหลังจากที่เทศบาลเอาโครงการมาปฏิบัติ ชาวบ้านก็มีอำนาจในการติดตามโครงการเช่นกัน
.
แม้ในเกาะคาจะไม่มีภาคเอกชนเข้าร่วม แต่ก็ถือเป็นตัวอย่างที่ดีและสำคัญว่า กทม. ก็สามารถนำกระบวนการ PB เข้ามาทำได้และมันสามารถเกิดขึ้นได้จริง
.
“ข้อมูลงบประมาณของ กทม แบบไหนที่จำเป็นต้องรู้ ก่อนมีส่วนร่วม และข้อมูลงบประมาณอย่างเดียวเพียงพอหรือไม่ หากจะเข้าร่วมกระบวนการ PB”
มาหาคำตอบกันใน ตอนที่ 2 งบประมาณของคนกรุงเทพ กับปัญหาที่เกิดรอบตัว
コメント