กรุงเทพฯ ถือเป็นเมืองที่ดีแล้วหรือไม่ ? และเมืองที่ดีในอุดมคติของเราคืออะไร ? ถ้าคำตอบของคุณ คือ ไม่ และคิดว่าเมืองที่ดีไม่ได้มีหน้าตาแบบนี้ - เราคือเพื่อนกัน
แล้ว #เมืองที่ดี #เมืองที่น่าอยู่ มีหน้าตาเป็นอย่างไร ? สำหรับหลาย ๆ คนแล้ว เมืองที่ดีอาจจะเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการมีทางเท้าที่ปลอดภัย สะอาด ทุกคนสามารถสัญจรกันไปมาได้ เมืองที่มีขนส่งมวลชนสาธารณะครอบคลุม ราคาย่อมเยา และตรงเวลา หรือเมืองที่พื้นที่สาธารณะมากพอที่จะให้ผู้อยู่อาศัยได้ออกมาพบปะ ทำกิจกรรม และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ซึ่งทั้งหมดนี้ก็นำมาสู่คำถามที่สำคัญว่า เราสามารถออกแบบให้กรุงเทพฯ รวมไปถึงเมืองอื่น ๆ ในประเทศไทย เป็นเมืองที่ดี เป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้นได้หรือไม่ ? และอย่างไร ? .
จากที่ได้พูดคุยกับนักวิชาการ และบุคคลที่สนใจและทำงานเกี่ยวกับเมือง หลายท่านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้กรุงเทพฯ รวมถึงเมืองอื่น ๆ ในประเทศไทย กลายเป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้นได้ คือ การเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผังเมืองสู่สาธารณะ (open access) เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนที่อยู่อาศัยในเมืองนั้น ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม ได้เข้ามาตัดสินใจในนโยบายที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของเขา ได้เข้ามาช่วยวางแผนว่าเมืองควรถูกพัฒนาไปในทิศทางไหน
ลองจินตนาการดูว่า ถ้าทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูล ได้เห็นนโยบายต่าง ๆ ที่ทางภาครัฐวางแผนไว้ ได้ช่วยกันตรวจสอบแผนการจัดซื้อ จัดจ้างทั้งหมด โปรเจกต์พิสดารทั้งหลาย ไม่ว่าจะบ้านป่าแหว่ง เสาไฟกินรี ก็คงไม่มีทางเกิดขึ้น นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ปกครอง หันมาพิจารณาการพัฒนาเมืองในมิติอื่น ๆ นอกจากมิติทางด้านปกครองอีกด้วย เพราะในความเป็นจริงแล้ว เมืองของเราไม่ได้คงอยู่ด้วยการปกครองเพียงอย่างเดียว แต่ประกอบไปด้วยมิติอื่น ๆ โดยเฉพาะมิติทางด้านสาธารณสุข ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน เช่น กฎหมายความปลอดภัยของตัวอาคาร กฎหมายเรื่องช่องระบายอากาศและสัดส่วนที่อยู่อาศัย เป็นต้น
และที่สำคัญ การเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ จะเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลจากหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น ภูมิสถาปนิก วิศวกร นักรัฐศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นักภูมิศาสตร์ นักสังคมสงเคราะห์ เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเมืองมากขึ้น เพราะการออกแบบเมืองไม่ได้หมายถึงการออกแบบตึกเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการออกแบบวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในเมืองด้วย .
เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะแล้ว การทำประชาพิจารณ์ (public hearing) เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้อยู่อาศัยเป็นสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะพวกเขาเหล่านี้ คือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จึงจำเป็นอย่างมากที่พวกเขาจะได้มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น สิทธิ์ในการตัดสินใจ สิทธิ์ในการตรวจสอบ และสิทธิ์ในการกำหนดทิศทางเมืองไปด้วยกัน
แต่การทำประชาพิจารณ์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าคนไทยยังขาดความกระตือรือร้นในการเข้ามามีส่วนร่วมอยู่ นักวิชาการหลายท่านตั้งข้อสังเกตว่า หลายครั้งการแก้ไขปัญหาไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะเกิดจากวัฒนธรรมไทย “ไม่เกี่ยวกับฉัน ฉันไม่ยุ่ง” “ฉันไม่เดือดร้อน ฉันไม่พูด” ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในการออกแบบผังเมือง (และปัญหาสังคมอื่น ๆ) อย่างมาก และทำให้ปัญหาวนเป็นงูกินหางต่อไป นอกจากนี้ อุปสรรคอีกประการ คือ ประเด็นเรื่องผังเมืองหรือการออกแบบผังเมืองของไทย มักจะพูดคุยกันในวงแคบ ๆ ของกลุ่มผู้มีอำนาจหรือกลุ่มวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ผู้อยู่อาศัยจำนวนมากจึงไม่ได้เกิดความรู้สึกว่าตนเองมีส่วนร่วม หรือหลายครั้งเรื่องหรือหัวข้อที่ผู้มีอำนาจเลือกมาพูดคุย ถามความเห็นจากประชาชน ก็มักเป็นหัวข้อที่ห่างไกลจากความเป็นอยู่ วิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัยอยู่ดี .
ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าองค์ความรู้ด้านผังเมืองของไทยพัฒนาขึ้นมาก แต่นักวิชาการหลายท่านก็ยังมองว่า ยังมีข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้การออกแบบเมืองที่ดีเป็นไปไม่ได้ คือ การขาดการถ่ายทอด แลกเปลี่ยน เชื่อมโยงองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ บริษัทที่ปรึกษา มหาวิทยาลัย หลายครั้งที่เรามีองค์ความรู้ มีแผน มีนโยบายในการจัดการแก้ไขปัญหา แต่เพราะการไม่ยอมคุยกัน ไม่ยอมแลกเปลี่ยนกัน ไม่ยอมปรึกษาซึ่งกันและกัน เลยทำให้นโยบายหรือทิศทางของแผนผิดพลาด หรือใช้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร
และหลายครั้ง แทนที่จะเริ่มแก้ปัญหา เริ่มลงมือในทันที ก็ต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ด้วยการเก็บข้อมูล ทำวิจัย ศึกษากันอีกรอบ เสียเวลา เสียโอกาส เสียงบประมาณ เสียทรัพยากร ทำให้กรุงเทพฯ รวมถึงเมืองอื่น ๆ ในประเทศไทยยังคงไม่พัฒนาไปไหนสักที มิหนำซ้ำยังส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากกลุ่มคนรวยก็สามารถหาโอกาสได้จากการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมในเมืองได้ ยิ่งกดทับกลุ่มคนยากจนที่นับวันก็เริ่มอยู่อาศัยในเมืองได้อย่างยากลำบากมากพออยู่แล้ว
ตัวละครที่สำคัญในการทำหน้าที่แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการผังเมืองที่ดีที่สุด ในสายตาของนักวิชาการและบุคคลที่ทำงานด้านการผังเมือง คือ มหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แถมยังมีความเชื่อมโยงเข้ากับพื้นที่ใกล้เคียง สามารถทำความเข้าใจพื้นที่โดยรอบของตัวเองได้ดีกว่าหน่วยงานของรัฐ มีนักศึกษาที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางคอยแลกเปลี่ยนกับผู้คนในชุมชน สามารถสะท้อนเสียงความต้องการของผู้อยู่อาศัยได้โดยตรง
แต่ถ้าจะให้เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเพียงฝ่ายเดียวก็คงไม่ได้ เพราะในท้ายที่สุด พวกเรา ในฐานะผู้ที่อยู่อาศัยในเมือง ต่างก็มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการออกแบบเมืองนี้ไปด้วยกัน
Comentários