ข้อสรุปโครงการแก้จน ปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน วัฏจักรคนจน
วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ที่ประชาชนคนไทยจะได้ใช้สิทธิ์ในการเลือกสมาชิกผู้แทนราษฎร รวมไปถึงนโยบายจากพรรคการเมืองต่าง ๆ สำหรับการเข้าไปทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และบริหารประเทศในช่วงสี่ปีข้างหน้าถัดจากนี้
นอกเหนือไปจากประเด็นแนวคิด ค่านิยมทางการเมืองต่าง ๆ ที่ร้อนแรงแล้วนั้น อีกหนึ่งสิ่งที่ได้รับการจับตามองมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นปีเช่นกันก็คือนโยบายด้านเศรษฐกิจ จากสภาวะความสะบักสะบอมของเศรษฐกิจโลก โรคระบาดและปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อกันเป็นลูกโซ่จนประชาชนหลายส่วนเผชิญกับปัญหาความอัตคัดขัดสน ที่มากขึ้นทั้งจำนวน และความรุนแรง ความเหลื่อมล้ำที่ฉีกห่างระหว่างคนรวยและคนยากจนขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยหากวัดความยากจนด้วยเส้นความยากจนของประเทศไทยนั้น จะมีคนจนทั้งหมด 4.4 ล้านคน และหากใช้มาตรวัดความยากจนหลากหลายมิตินั้น จะพบผู้ยากจนกว่า 8.9 ล้านคนทั่วทั้งประเทศ
ศูนย์วิจัยชุมชนเมือง (Urban Studies Lab: USL) ชวนทุกท่านมาส่องนโยบายแก้ปัญหาความยากจนจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ถึงโอกาสและข้อเสนอแนะในการพัฒนานโยบาย เพื่อการเข้าถึงกลุ่มคนจนอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
* หมายเหตุ USL วิพากษ์ข้อเสนอนโยบายในเชิงมิติความสัมพันธ์ของนโยบาย ผลลัพธ์และกลุ่มเป้าหมายในการแก้ปัญหาความยากจนเท่านั้น โดยถือการนำเสนอนโยบายที่ถูกนำเสนอได้รับการพิจารณาถึงการบังคับใช้แล้ว ในข้อเขียนนี้จะไม่มีการวิพากษ์มิติของความเป็นไปได้
Framework แก้จน - ลำดับความจน
“เลิกจน?-เข้าถึง?-พึ่งได้?” นั้นนำเสนอประเด็นมิติสำคัญการเข้าถึงการช่วยเหลือและแหล่งทุนทางการเงิน ซึ่งมีความสำคัญแบบยึดโยงกันไปมา ในการเข้าถึงสวัสดิภาพและเครือข่ายในการต่อยอดไปยังทุนอื่น ๆ
ในกรอบความยากจนตามต้นทุน 5 มิติ ได้แก่
ทุนทางสังคม เช่น เครือข่ายเพื่อนฝูง การจัดตั้งชุมชน
ทุนทางกายภาพ ได้แก่ ที่อยู่อาศัย
ทุนมนุษย์ เช่น สุขภาพ การศึกษา ทักษะอาชีพ
ทุนธรรมชาติ เช่น พื้นที่ธรรมชาติเพื่อลดค่าใช้จ่าย พื้นที่สาธารณะเพื่อประกอบอาชีพ
ทุนการเงิน เช่น รายได้-รายจ่าย การออม หนี้สิน
ในขณะที่ความยากจนของปัจเจกเองนั้นก็มีความแตกต่างในเชิงลำดับขั้นของความรุนแรง ความยากลำบาก มากน้อยต่างกันไป โดยสามารถจำแนกได้ตามกรอบการทำงาน ดังนี้ 1. อยู่ดี - เป็นกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่อสภาวะความแปรปรวน หรือความเสี่ยงต่าง ๆ มีฐานทุนในด้านต่างๆ ที่เพียงพอในการวางแผนอนาคตของตนเอง ครอบครัว และเป็นฐานทุนในระดับชุมชนได้
2. พออยู่ได้ - เป็นกลุ่มที่มีฐานทุนสำหรับ การดำรงชีพ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะอยู่ รอดได้อย่างปลอดภัย หากประสบกับภาวะความแปรปรวนต่าง ๆ จำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกัน และยกระดับความเป็นอยู่ให้หลุดพ้นจากสภาวะความขาดแคลน และเปราะบาง
3. อยู่ยาก - เป็นกลุ่มที่มีปัจจัยพื้นฐานที่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ในแต่ละวัน ซึ่งต้องเร่งดำเนินการจัดทางปัจจัยดำรงชีพ / ยกระดับความสามารถในการจัดทางปัจจัยดำรงชีพของตนเองให้พออยู่ได้
4. อยู่ลำบาก - เป็นกลุ่มที่มีปัจจัยพื้นฐานในความขาดแคลนการดำรงชีวิต ต้องนำเข้าสู่ระบบสวัสดิการโดย
เร่งด่วน
ด้านโครงการช่วยเหลือเยียวยานั้นทางภาครัฐเองได้มีนโยบายช่วยเหลือต่าง ๆ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ครอบคลุมความช่วยเหลือ อย่างเช่น ค่าใช้จ่ายรายเดือน ค่าเดินทาง ค่าบริการสาธารณูปโภค รวมแล้วประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน โดยมีข้อจำกัดบางประการจากทั้งข้อมูลทุติยภูมิ หรือข้อมูลปฐมภูมิจากการศึกษาของ USL เองก็สามารถพบช่องโหว่ของระบบการช่วยเหลือเยียวยาซึ่งส่งผลให้เกิดสภาวะผู้ประสบกับความยากจนในมิติการเงิน และซ้ำซ้อนกับการขาดต้นทุนต่างๆ ทั้งกายภาพ และสุขภาพนั้นตกสำรวจ และไม่ได้รับความช่วยเหลือ หรือแม้กระทั่งแหล่งทุนที่ได้รับการรับรองในระบบอย่างทันท่วงทีเป็นจำนวนพอสมควร
แนวนโยบายที่ถูกนำเสนอ กลุ่มที่ 1 : รายได้ขั้นต่ำ
หนึ่งในนโยบายที่สำคัญในด้านการเงินเลยนั้น คงจะขาดประเด็นค่าแรงมาตรฐานออกไปไม่ได้ เราได้เห็นสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของค่าแรงพื้นฐานขึ้นไปไม่ว่าจะกว่าเท่าตัว หรือกว่าครึ่งหนึ่งของอัตราจ้างในปัจจุบัน ที่ประมาณ 300 บาท เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทภายใน 4 ปี หรือ ค่าแรงขั้นต่ำ 400 และ 450 บาททำได้ทันที รวมไปถึงฐานเงินเดือนกลุ่มอาชีพอาชีวะ หรือวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีที่สูงขึ้นเช่นกัน
สำหรับกลุ่มนโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้นส่งผลในแง่บวกกับการยกระดับความยากจนที่พอมีต้นทุนในชีวิตมิติอื่น ๆ แต่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต หรือมีความปลอดภัยมากพอ ด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงมาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่ได้ถูกปรับอย่างมีนัยยะสำคัญในรอบเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา สวนทางกับต้นทุนอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้นนั้นสะท้อนถึงความจำเป็นในการปรับฐานค่าแรงให้สัมพันธ์กับค่าครองชีพที่แท้จริง
ในทางอ้อมนั้นจากการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ สะท้อนให้เห็นว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจมหภาคในเชิงการเพิ่มขึ้นของต้นทุนของค่าครองชีพซึ่งต้องเป็นมีมาตรการอื่น ๆ ในการบริหารผลกระทบที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี แนวทางนโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้นจะไม่เข้าถึงกลุ่มแรงงานนอกระบบ คนจนที่ไม่ได้อยู่ในระบบแรงงาน หรือไร้ความสามารถในการทำงาน คนจนในกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก หรือเกษตรกร โดยส่วนมากในกลุ่มคนจนอยู่ยาก หรืออยู่ลำบากขาดต้นทุนหลากหลายมิติในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ ซึ่งต้องการมาตรการอื่น ๆ ในการเพิ่มต้นทุนชีวิตในกลุ่มเฉพาะอาชีพ เช่น ประมง เกษตรกร หรือต้นทุนชีวิตในมิติอื่น ๆ ประกอบไปด้วยกันตามที่พรรคการเมืองหลากหลายพรรคได้นำเสนอไป
แนวนโยบายที่ถูกนำเสนอ กลุ่มที่ 2 : ลดค่าครองชีพ
การลดค่าครองชีพนั้นเป็นแนวนโยบายในการบรรเทาผลกระทบของเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง สวนทางกับต้นทุนค่าครองชีพต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นสวนทางกันเป็นอย่างมาก โดยนโยบายกลุ่มนี้เป็นที่ดึงดูดทั้งการแก้ไขในเชิงระบบนิเวศของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งพลังงาน การคมนาคม ของเศรษฐกิจโดยตรง หรือการใส่งบประมาณสนับสนุนชั่วคราวเพื่อบรรเทาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นน้ำมัน เป็นต้น
ในทางตรงนั้นการลดค่าครองชีพช่วยลดต้นทุนที่มีต่อภาระทางการเงินของกลุ่มคนตั้งแต่ที่มีความอยู่ดี แต่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ไปจนถึงกลุ่มคนที่มีความยากจน แต่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต มีความปลอดภัยมากพอ ตามแต่นโยบาย
ในขณะที่ในบางนโยบายอย่าง เช่น การลดภาษีเป็นการช่วยบรรเทาภาระของกลุ่มคนในระดับอยู่ดี หรือกลุ่มคนที่มีรายรับแน่นอนแต่ไม่มาก และมีความมั่นคงในการงานในระดับหนึ่งอยู่แล้ว
หนึ่งในแนวนโยบายการเยียวยาอย่าง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา รวมถึงนโยบายที่บางพรรคการเมืองมีการนำมาปรับงบประมาณสนับสนุน และโครงสร้างนั้น ยังคงมีกระบวนการในการเข้าถึงที่ยากลำบากกับกลุ่มคนเปราะบาง เช่น ผู้พิการ หรือผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประสบภัยความยากจนในระดับอยู่ยาก จนถึงอยู่ลำบาก
การรับการเยียวยาที่มีต้นทุนทั้งการเดินทาง อุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ การกระจายตัวและจำนวนที่น้อยของธุรกิจปลายทางที่ร่วมรายการ ส่งผลให้การช่วยเหลือเยียวยาขาดประสิทธิภาพ การตกสำรวจกลุ่มคนคนจนที่ประสบปัญหา และต้องการการช่วยเหลือเยียวยาโดยด่วน เช่น กลุ่มคนอยู่ลำบาก และอยู่ยาก
ในขณะที่นโยบายอื่น ๆ ที่พุ่งเป้าในการลดค่าครองชีพนั้นก็มีแนวโน้มที่จะใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเดิมอยู่ ซึ่งควรมีการปรับกระบวนการเพิ่มฐานข้อมูล สู่การใช้ฐานข้อมูลตามจริง และลดข้อจำกัดของผู้รับการช่วยเหลือให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มเป้าหมายที่การเยียวยาสามารถสร้างผลสัมฤทธิ์ได้สูงที่สุด
แนวนโยบายที่ถูกนำเสนอ กลุ่มที่ 3 : เงินกู้
การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำนั้น เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยเหลือประชาชน เป็นทางเลือกในการช่วยเหลือและยืดระยะเวลาการติดกับดักความยากจน ทั้งป้องกันหรือแก้ไขจากสถานการณ์การของวัฏจักรเงินทุนนอกระบบดอกเบี้ยสูง หรือการหยิบยืมระหว่างชุมชนที่ไม่ได้มีความมั่นคงทางการเงินสูงนัก
นโยบายที่ทาง USL คิดว่าน่าสนใจได้แก่ การนำเสนอนโยบายในการพยายามจะตัดวงจรเงินกู้นอกระบบ ซึ่งมีความพยายามในการผลักดันอย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบ โดยเงินกู้นอกระบบ ในรูปแบบที่พบเจอมากเป็นลักษณะดอกเบี้ยสูง และเป็นต้นเหตุของวงจรความยากจน ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการที่ไม่สามารถเข้าถึง ในขณะเดียวกันก็มีนโยบายในการปรับมาตรฐานการประเมินให้มีลักษณะเอื้อประโยชน์ต่อผู้กู้มากขึ้น และการเข้าถึงเงินกู้ในระบบได้ง่ายขึ้น เช่น เงินกู้จากสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้ โดยมีข้อเสนอในรูปแบบการจัดตั้งกองทุนชุมชน หรือการให้วงเงินผ่านธนาคารรัฐที่ลดข้อจำกัดในการเข้าถึงเงินทุนประมาณ 50,000 บาท หรือการยกเลิกเครดิตบูโร
ในทางกลับกันนั้นก็มีข้อกังวลจากนักการเงิน และนักเศรษฐศาสตร์ถึงปัญหาหนี้เสียในระดับมหภาคมากขึ้น
อีกกลุ่มนโยบายคือมาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาลูกหนี้ในระบบ ให้ผ่านพ้นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบันไปได้ เช่น มาตรการการพักหนี้เป็นเวลา 3 ปี ในวงเงินประมาณหนึ่งล้านบาท
มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการที่สามารถสนับสนุนกลุ่มคนอยู่ดีที่มีความสามารถในการตอบรับความเสี่ยง มีต้นทุนในมิติต่าง ๆ ที่มั่นคงในระดับหนึ่ง หรือกลุ่มคนที่มีความสามารถพออยู่ได้ และต้องการความช่วยเหลือเพื่อผ่อนคลายสถานการณ์เฉพาะหน้าต่อไป ต้นทุนต่างๆ ที่กลุ่มคนเหล่านี้มียังแปรผันต่อจำนวนเงินในการกู้ยืม และความสามารถในการจ่ายคืนและต่อยอดจากเงินกู้ดังกล่าว
แนวนโยบายที่ถูกนำเสนอ กลุ่มที่ 3 : เบี้ยช่วยเหลือ
กลุ่มเงินช่วยเหลือนั้นมีความคล้ายคลึงกับความพยายามในการลดค่าครองชีพ และมีความเฉพาะเจาะจงต่อกลุ่มผู้รับเช่น กลุ่มคนพิการ และกลุ่มคนชรา หนึ่งในนโยบายที่หลายพรรคการเมืองนั้นได้มีการนำเสนอคือการปรับฐานเบี้ยคนพิการและคนชราเพิ่ม เป็น 3,000 บาท หรือ 10,000 บาท
นโยบายการเพิ่มเงินช่วยเหลือเหล่านี้ตอบโจทย์โดยตรงต่อความยากจนในทุกระดับ โดยเฉพาะเป็นหนึ่งในกลุ่มนโยบายที่สามารถตอบโจทย์กับความยากจนในกลุ่มอยู่ยาก และอยู่ลำบากได้ดีในภาพรวม ซึ่งมีแนวโน้มเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ ขาดความสามารถในการเลี้ยงดูตัวเอง
อย่างไรก็ดีข้อจำกัดต่าง ๆ ในประเด็นแบบเดียวกับกลุ่มนโยบายอื่น ๆ คือความครอบคลุมของการสำรวจ และการลงทะเบียนยังจะเป็นความท้าทายสำคัญในการทำให้นโยบายเบี้ยคนชรานี่ประสบผลสำเร็จ
ในนโยบายของบางพรรคการเมืองยังมีการบังคับข้อจำกัดต่อการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยวัตถุประสงค์ในการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีของคนชรา แต่ในขณะเดียวกันการคัดกรองจากการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ นั้นยังมีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม กายภาพ สุขภาพ และการเงินตั้งต้นเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นการสร้างข้อจำกัดของกลุ่มคนอยู่ยาก และอยู่ลำบากในการได้รับสิทธิช่วยเหลือดังกล่าว
บทสรุป
โดยสรุปแล้ว แนวนโยบายต่าง ๆ ที่ข้องเกี่ยวกับต้นทุนทางการเงิน และความยากจนนั้น มีแนวทางที่นำเสนอทั้งการปรับโครงสร้างของรายได้ และรายจ่ายให้สัมพันธ์กับต้นทุนการใช้ชีวิตที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น โดยแต่ละนโยบายนั้นมีผลกระทบ และความยั่งยืนของนโยบาย แตกต่างกันไปตามแต่วัตถุประสงค์
หนึ่งในประเด็นสำคัญของนโยบายต่าง ๆ ทีสะท้อนถึงการตกหล่น คือแนวทางการประยุกต์ใช้ในบริบทจริง ที่ยังไม่มีข้อเสนอนโยบายในการปรับรูปแบบที่สามารถตอบสนอง และช่องว่างที่ทำให้กลุ่มคนจนในระดับอยู่ลำบาก และอยู่ยากได้รับการช่วยเหลือไม่ทั่วถึง จะด้วยปัญหาที่สะท้อนไปไม่ถึง หรือด้วยกลุ่มประชากรที่ประสบปัญหานั้นมีจำนวนน้อย
การเน้นใช้เทคโนโลยีในการเข้าช่วยเหลือนั้นดี และสามารถกระจายความช่วยเหลือไปได้ในวงกว้างมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มที่จะผลักกลุ่มที่เปราะบางที่สุด มีต้นทุนน้อยที่สุดให้หลุดออกจากกรอบการช่วยเหลือด้วยเช่นกัน
การคิดถึงรูปแบบการจัดกระจายการเยียวยา ช่วยเหลือ การเข้าถึงแหล่งงาน เส้นทางการรับเงินช่วยเหลือ ที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งผ่านระบบดิจิทัล และการเข้าถึงผ่านเครือข่ายชุมชน สังคมต่างๆ รวมไปถึงนโยบายที่ผลักดันให้เกิดการพิสูจน์และ ขึ้นทะเบียนบุคคลต่าง ๆ จะช่วยส่งเสริมให้การออกแบบนโยบาย สามารถกระทำและส่งผลได้อย่างตรงจุดมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีแนวทางที่น่าสนใจในการนำมาพิจารณา จำพวก รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income) ซึ่งลดโอกาสของการตกหล่นได้มากขึ้น แต่ก็มีต้นทุนและผลกระทบในระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สูงเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ของทางทีม USL โดยมีเจตนาที่จะนำเกร็ดความรู้ในการค้นคว้า รวมไปถึงข้อค้นพบในงานวิจัยจากโครงการการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ กรุงเทพมหานคร เพื่อสะท้อนมุมมองต่อนโยบายในสนามการเลือกตั้งครั้งนี้
สุดท้ายนี้ USL จึงอยากขอเชิญชวนให้ทุกคนร่วมออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 8.00 - 17.00 น. ร่วมกำหนดอนาคตของพวกเราไปด้วยกันอย่างเสมอภาค
Comments