top of page
Writer's pictureWirakan Rakamma

เหตุการณ์ไฟไหม้ เรื่องใหญ่ของชุมชน 🏠🔥



ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ไฟไหม้ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสำคัญของพื้นที่ ผู้คน และชุมชนเสมอมา โดยเฉพาะไฟไหม้ในเมืองที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก และเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาไปตลอดกาล


วันนี้ศูนย์วิจัยชุมชนเมือง หรือ Urban Studies Lab ขอพาทุกท่านมาร่วมทำความเข้าใจว่า ทำไม “เรื่องไฟไหม้” ถึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับชุมชน ไฟไหม้ในเมืองมักเกิดจากอะไร รวมถึงการป้องกันและรับมือกับเหตุการณ์ไฟไหม้ที่อาจคาดไม่ถึง โดยขอยกตัวอย่างจากเพื่อนบ้านเรือนเคียงของเราก่อน นั่นคือ “ย่านนางเลิ้ง” ซึ่งพวกเราได้ทำกิจกรรมเรื่องไฟไหม้ร่วมกับชุมชนจักรพรรดิพงษ์มาด้วย!


กรุงเทพฯ ในอดีต เคยเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้มาหลายครั้งทั่วพระนคร โดยเฉพาะย่านตลาดที่มีคนอาศัยอยู่ชุกชุม ย่านนางเลิ้งเองก็เป็นตลาดขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ที่ประกอบด้วยห้องแถวกว่าสามร้อยหลัง ทั้งยังอยู่ใกล้กับสวนดุสิต อันเป็นที่ดินและอาคารของพระคลังข้างที่ จึงมีการริเริ่มตั้ง “โปลิศ” เพื่อจัดการเหตุไฟไหม้ และเกิด “พระราชบัญญัติจัดการดับเพลิงไหม้” บังคับใช้เพื่อความปลอดภัยของที่อยู่อาศัย


ไฟไหม้ในอดีต เกิดจากอะไรบ้าง? 🪵🍂


ส่วนใหญ่แล้วการเกิดไฟไหม้มักสัมพันธ์กับ “วิถีชีวิตประจำวันของผู้คน” เช่น การใช้ไฟหรือน้ำมันในการทำอาหาร การจุดธูปเทียนของหวย จึงอยู่ใกล้กับเรือนไม้ หรือวัสดุไวไฟได้แล้ว ยิ่งเป็นการโหมไฟให้ลุกลามไปยังพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะชุมชนแออัดที่บ้านมักจะอยู่ติดกัน ทำให้เวลาเกิดเหตุไฟไหม้ครั้งหนึ่ง มักจะไม่จบที่บ้านหลังเดียว นอกจากการใช้ชีวิตของคนแล้ว “การลอบวางเพลิง” ก็เป็นอีกสาเหตุหลักของเหตุการณ์ไฟไหม้เช่นกัน จนกระทั่งมีอำนาจของรัฐเข้ามาควบคุมจัดการไฟไหม้ เหตุไฟไหม้จึงลดลง



รัฐเข้ามาจัดการไฟไหม้ในชุมชน 🚒🚨


ในเวลาต่อมา รัฐเริ่มเข้ามาควบคุมและจัดการการเกิดไฟไหม้ ผ่านกองตระเวน และการจัดตั้งโรงโปลิศขึ้นตามท้องที่ต่างๆ การจัดการไฟไหม้จึงสัมพันธ์กับการจัดการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พื้นที่ส่วนใหญ่ในย่านนางเลิ้อยู่ภายใต้การดูแลของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 

(ในอดีตคือพระคลังข้างที่) จึงมี "การตัดถนน ออกแบบรูปแบบอาคารเป็นก่ออิฐถือปูน และกำหนดแผนผังตลาดนางเลิ้ง” ให้มีตึกแถวล้อมรอบอีกชั้น เพื่อจัดระเบียบความเรียบร้อย และป้องกันเหตุไฟไหม้ด้วยเช่นกัน

“ถังดับเพลิง” ก็เป็นหนึ่งในมาตรการรับมือกับเหตุไฟไหม้ของชุมชน โดยในชุมชนจะมีถังดับเพลิงตั้งตามจุดต่างๆ และมีการซักซ้อมแผนไฟไหม้ประจำปี การทำความเข้าใจการใช้งานถังดับเพลิง จะช่วยชะลอผลกระทบของเหตุไฟไหม้ เพื่อรอรถดับเพลิงเข้ามาควบคุมสถานการณ์ได้


เมื่อเราทำความเข้าใจความเป็นมาในอดีตแล้ว เราจึงเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า ทำไมพวกเราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องไฟไหม้ในชุมชน? นั่นก็เพราะว่า เหตุไฟไหม้ เป็นภัยที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก เป็นความกังวลที่อยู่คู่กับชุมชนมาอย่างยาวนาน การป้องกันไว้ก่อนจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กับการตั้งรับเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน


หันกลับมาปัจจุบัน ความเสี่ยงเพลิงไหม้ในชุมชนยังมีอยู่การพฤติกรรมประมาทในชีวิตประจำวัน สาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น เปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้นานๆ การใช้ปลั๊กไฟไม่ได้มาตรฐาน จุดธูปเทียนแล้วไม่มีคนเฝ้า ก่อนอื่นเลย ทุกคนต้องมีความรัดกุมในการกระทำต่างๆ มากขึ้น เลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปลอดภัย และเลือกใช้ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้ารวมถึงสายไฟที่เหมาะสม เพื่อลดโอกาสการเกิดเหตุไฟไหม้



Urban Studies Lab จึงเห็นถึงความสำคัญของกระบวนการการตั้งรับและคิดหาทางป้องกันร่วมกับชุมชนจักรพรรดิพงษ์ ด้วยการจัดอบรมเกี่ยวกับการรับมือเมื่อเกิดอัคคีภัย และจัดกิจกรรมเวิร์คชอป เพื่อร่วมกันเสนอแนวทางการอพยพ และชี้จุดเสี่ยงหรือจุดที่ชุมชนมีความกังวล เพื่อเพิ่มการสอดส่องและเฝ้าระวังกันอีกด้วย



แต่ถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว ทำอย่างไร? 🧯🔥

แจ้งคนในบ้าน หรือเพื่อนบ้าน แล้วรีบแจ้ง 199 หรือสถานีดับเพลิงใกล้บ้าน ระหว่างรอหน่วยดับเพลิง ให้ช่วยดับด้วยถังดับเพลิง ถือคติว่า ดับได้ก็ดี ดับไม่ได้ให้ช่วยชะลอไม่ให้ลาม ถ้าชะลอไม่ไหว ให้อพยพหนีไฟ



ไฟไหม้ คือเรื่องใหญ่ของชุมชนก็จริง แต่ถ้าทุกคนมีความระมัดระวังในการใช้ชีวิต และมีสติพร้อมรับมือเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ ก็จะผ่านไปได้อย่างแน่นอน หากมีใครสนใจเนื้อหาเพิ่มเติมของเหตุไฟไหม่ในชุมชน





สามารถดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มเกี่ยวกับบันทึกเหตุไฟไหม้ที่เคยเกิดขึ้น “มองอัคคีภัยในย่านนางเลิ้ง จากอดีตจนถึงปัจจุบัน” จัดทำโดยเจ้าหน้าที่สัมพันธ์ชุมชนของ Urban Studies Lab ได้ที่นี่ : 

Comments


bottom of page