top of page
Writer's pictureSuwaporn Leangpasuk

แผนที่ชุมชน : เครื่องมือในการส่งเสริมให้คนเอาข้อมูลมาคุยกัน!



จากการลงชุมชนของ Urban Studies Lab หรือศูนย์วิจัยชุมชนเมือง ค้นพบปัญหาว่า….

▪️ ชุมชนไม่มี ‘แผนที่ชุมชน’ ของตัวเอง

▪️ ชุมชนมีแผนที่แต่ไม่ถูกนำมาใช้งาน

▪️ แผนที่ชุมชน ไม่ถูกอัพเดต

▪️ แผนที่ในระบบออนไลน์ เก็บพิกัดไม่ตรง



นำมาสู่การทำ “แผนที่ชุมชน” หนึ่งในเครื่องมือเก็บข้อมูลชุมชนที่ต่อดยอดมาจากการสำรวจชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีฐานข้อมูลที่เข้าใจร่วมกัน : )


แผนที่ชุมชน เป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชน เกิดการให้ข้อมูล บอกเล่าปัญหาให้เกิดการรับรู้ร่วมกัน นำไปสู่การเข้าถึงของโอกาสและความช่วยเหลือต่างๆ ได้ ด้วยลักษณะของเครื่องมือที่เป็นสาธารณะ


ที่ผ่านมา Urban Studies Lab ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและร่วมจัดทำแผนที่ชุมชนมาแล้วในพื้นที่ 4 เขต ภายใต้โครงการการเก็บข้อมูลสุขภาวะของปั้นเมือง ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กลุ่มปั้นเมือง ได้แก่

  1. พื้นที่เขตสายไหม : ชุมชนพูนทรัพย์

  2. พื้นที่เขตทุ่งครุ : ชุมชนใต้สะพานโซน 1

  3. พื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ : แบ่งเป็นพื้นที่ 3 แขวงภายในเขต

  4. พื้นที่เขตคลองเตย : 3 ชุมชน ได้แก่

  • ชุมชนสวนอ้อย

  • ชุมชนบ้านกล้วย

  • พื้นที่ใต้ทางด่วนฉลองรัช

และ Urban Studie Lab มีการขับเคลื่อนพื้นที่การทำงานในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 1 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนจักรพรรดิพงษ์ ชุมชนบ้านบาตร


กระบวนการทำแผนที่ชุมชนของ Urban Studies Lab 🗺📝

  1. สอบถามชุมชนก่อนว่า “ชุมชนมีแผนที่ดั้งเดิมไหม?”

: การมีแผนที่ชุมชนเดิม เป็นต้นทุนที่สามารถต่อยอดให้การทำแผนที่ฉบับปรับปรุงมีความสะดวกมากขึ้น!

  1. เตรียม base map (แผนที่ฐาน) และทำกระบวนการ Workshop แผนที่เดินดินกับชุมชน

: เตรียมทำ base map ของแผนที่ เพื่อให้ชุมชนมาร่วมกันเติมหรือแก้ไขข้อมูลร่วมกันได้ นอกจากแผนที่เปล่าแล้ว เราก็เตรียมสติ๊กเกอร์ ‘สัญลักษณ์’ ต่างๆ ให้ชุมชนได้บอกสถานที่สำคัญต่างๆ ในชุมชน เช่น ศูนย์ชุมชน ศูนย์เด็กฯ ร้านอาหาร ตำแหน่งถังดับเพลิง รวมถึงข้อมูลกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ (ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ) ผ่านการทำกระบวนการ Workshop ข้อมูลแผนที่ชุมชนโดยคนในชุมชนเป็นผู้ให้ข้อมูลในสำหรับการทำแผนที่เดินดินในขั้นต้น

  1. รวบรวมข้อมูลแผนที่

: หลังจากได้ข้อมูลมาแล้ว ไม่ว่าจะจากการบอกเล่าชี้แนะของชุมชน การเดินสำรวจ แผนที่ดั้งเดิมของชุมชน ฐานข้อมูล GIS และแผนที่ Google map ก็นำมารวบรวมและจัดทำเป็นแผนที่ชุมชนฉบับอัพเดต

  1. คืนข้อมูลให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์

: ท้ายที่สุดแล้ว คนที่จะได้ใช้ประโยชน์ข้อมูลแผนที่ชุมชนมากที่สุด จะเป็นใครไม่ได้นอกจากชุมชนเอง ผลิตผลสุดท้ายที่เราส่งมอบให้ชุมชน คือ “แผ่นไวนิลแผนที่ชุมชน” ที่ทนแดด ทนฝน สามารถตั้งในพื้นที่ส่วนกลางชุมชนได้ พร้อมกับเครื่องมืออย่างสติ๊กเกอร์ระบุจุดสำคัญในชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถเพิ่มหรือแก้ไขข้อมูลได้ด้วยตัวเอง และหากในอนาคตชุมชนต้องการแผนที่ในรูปแบบ digital file พวกเราก็มีให้ด้วย


นอกจากนี้ ยังมี “ปฎิทินชุมชน” และ “สมุดพกชุมชน” ที่เป็นเครื่องมือช่วยจัดระเบียบข้อมูลในชุมชน


การทำปฏิทินในชุมชน มักจะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมตลอดทั้งปี ทั้งหัวข้อวัฒนธรรม สังคมและเศรษฐกิจ เช่น ช่วงเทศกาล งานบุญ งานอบรมต่างๆ ทำให้ทุกคนรับทราบกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น รวมถึงระบุความช่วยเหลือที่ต้องการได้


สมุดพกชุมชน เป็นการรวบรวมฐานข้อมูลทั้งหมดที่มีในชุมชน เช่น ข้อมูลที่อยู่อาศัย ข้อมูลผู้ป่วยติดเตียง แผนที่เดินดิน แต่ละชุมชนก็มีข้อมูลไม่เหมือนกัน แต่เมื่อได้มาจัดระเบียบข้อมูลที่มีในมือ ก็จะสามารถนำไปต่อยอดงานต่างๆ ที่ขับเคลื่อนเพื่อชุมชนได้


🌟 Key to success

: ปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานสำเร็จได้ คือ “ความร่วมมือของชุมชน” ทำให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพ ที่ส่งกลับคืนให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์


🪑 ชุมชนได้อะไร?

: ชุมชนได้เครื่องมือสำหรับเก็บข้อมูล และส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในชุมชน

  1. แผ่นไวนิลแผนที่ชุมชน ทนแดด ทนฝน สามารถตั้งในพื้นที่ส่วนกลางชุมชนได้

  2. สติ๊กเกอร์ระบุจุดสำคัญ เพื่อให้ชุมชนแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อมูลได้

  3. ไฟล์แผนที่ Digital file เพื่อให้ชุมชนสามารถนำไปใช้ต่อได้ในอนาคต

ไม่ใช่เพียงสิ่งที่เราเห็นด้วยตา แต่แผนที่ชุมชนนี้อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อไป นั่นคือ ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้ เริ่มจาก “ข้อมูลชุมชน” ที่จะเป็นรากฐานสำคัญในการรู้สถานการณ์ของตวเอง นำไปสู่การแก้ปัญหา การรับมือ และการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน



164 views0 comments

Comments


bottom of page